จากรายงานการวิจัยของสหภาพคนข้ามเพศยุโรป (Transgender Europe) ภายใต้โครงการการติดตามการสังหารคนข้ามเพศ พบว่า สถิติการสังหารคนข้ามเพศ (ในที่นี้รวมถึงกะเทย สาวประเภทสอง หรือเกย์สาวที่นิยามตนเองว่าเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศ) พบว่า คนข้ามเพศหนึ่งคนจะถูกสังหารทุกๆ 72 ชั่วโมงทั่วโลกเนื่องจากความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ หรือ โฮโมโฟเบียและทรานซ์โฟเบีย (homophobia and transphobia) ในประเทศไทยนั้นแม้ว่าจะไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย งานวิจัยของโครงการเพศวิถีที่หลากหลายในความหมายของครอบครัว โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศพบว่า คนข้ามเพศหรือกะเทยตกเป็นเป้าหมายของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำความรุนแรงมากกว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มเกย์หรือกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มเลสเบี้ยน หรือกลุ่มหญิงรักหญิง
จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้กะเทยไทยอย่างฉันต้องมานั่งทบทวนประสบการณ์ชีวิตการเป็นกะเทยที่เติบโตในแผ่นดินไทยประเทศที่ทำให้ฉันเชื่อว่า เราเป็นประเทศที่รักความสงบ เราคนไทยดำเนินชีวิตแบบวิถีพุทธ เราไม่นิยมการจัดการปัญหาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ฉะนั้น การประนีประนอมมักจะเป็นทางเลือกเสมอสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรง การเกิดมาเป็นกะเทยในสังคมไทยจึงไม่เคยถูกมองเป็นปัญหา เพราะกะเทยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และกะเทยก็ถูกพบเห็นทั่วไปทั้งเมืองเล็กและเมืองใหญ่ อีกทั้งประเทศไทยยังมีการประกวดกะเทยที่โด่งดังทั่วโลก กะเทยไทยสามารถเป็นช่างแต่งหน้ามืออาชีพ เป็นผู้กำกับชั้นเยี่ยม เป็นนางแบบบนรันเวย์ระดับสากล เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กะเทยไทยยังสามารถทำงานในบริษัทเอกชนดังๆ เป็นอาจารย์สอนนักเรียนนักศึกษานับพัน และเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน โดยสรุปสังคมไทยเชื่อว่าการเป็นกะเทยเป็นเรื่องที่วัฒนธรรมไทยยอมรับ และกะเทยก็มีโอกาสในการศึกษา และโอกาสในการแสวงหาอาชีพการงานเท่าเทียมกับชายหญิงทั่วไปในสังคมไทย
สำหรับชาวต่างชาตินั้นปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับพวกเขาจนทำให้พวกเขาคิดว่า เมืองไทยเป็นสวรรค์ของเกย์และกะเทย หรือ Thailand is gay and katoey's paradise!!! กะเทยไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไปเมื่อเปรียบกับกะเทยในประเทศอื่น ซึ่งคนข้ามเพศหรือกะเทยเสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายของความรุนแรงในเชิงกายภาพกล่าวคือ การล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการฆาตกรรม ที่น่าตกใจคือประเทศเหล่านั้นกว่า 81 ประเทศมีการคาดโทษกับคนที่แสดงตัวว่าเป็นเกย์กะเทยเลสเบี้ยนหรือมีพฤติกรรมที่ต่างจากชายหญิง หรือพฤติกรรมทางเพศกับคนที่เป็นเพศเดียวกัน ในบรรดาประเทศเหล่านี้กว่า 10 ประเทศที่คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ต่างจากชายหญิงจะถูกประหารชีวิต ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นสวรรค์ของกะเทย เพราะกะเทยไทยไม่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน หรือกลัวว่าจะถูกจับ คาดโทษ และประหารชีวิตเพียงเพราะความแตกต่างทางเพศของพวกเขาหรือพวกเธอ
เมื่อการเป็นกะเทยในสังคมไทยถูกทำให้เป็นเรื่อง“ปกติ”ด้วยการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมไทย และได้รับการยืนยันจากชาวต่างชาติ กะเทยไทยจึงไม่ต้องคิดกังวลกับความแตกต่างในตัวตนทางเพศ ความแตกต่างเพียงเรื่องเดียวที่กะเทยไทยต้องกังวลจึงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสรีระของตนเองให้มีความละมุนละไมเทียบเท่ากับสตรีเพศ ไม่น่าแปลกใจเลยที่กะเทยไทยและสังคมไทยจะมองเรื่องการแปลงเพศเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมทางเพศของกะเทย เพราะปัญหาเหล่านั้นจะถูกแก้ไขเมื่อกะเทยมี “จิ๋ม” เป็นผู้หญิงทั้งกายและใจ กะเทยที่ผ่านการแปลงเพศจึงไม่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไป และพวกเธอก็มีสิทธิเทียบเท่ากับผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงโดยกำเนิด อีกทั้งประเทศไทยยังมีแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการทำศัลยกรรมและการผ่าตัดแปลงเพศเป็นที่โด่งดังทั่วโลก จนกะเทยในหลายประเทศต้องเก็บออมเพื่อหวังจะมาเริ่มต้นชีวิตการเป็น “ผู้หญิง” ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางกายและทางใจบนสวรรค์ปลอมๆแบบไทย
ฉันกำลังทบทวนความคิดและความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าครั้งหนึ่งความคิดพวกนี้มันเวียนวนอยู่กับตัวตนการเป็นกะเทยคนหนึ่งในสังคมไทยของฉัน ถึงตอนนี้ฉันรู้ว่าฉันกำลังถูก “หลอก”อย่างแนบเนียนโดยกระบวนการที่เรียกว่า “Gender Normalization” หรือแปลได้ว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ความต่าง เช่น ความเป็น “กะเทย” กลายเป็นเรื่องปกติด้วยการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือ กะเทยจะปกติได้ต้องมีอวัยวะเพศที่ตรงกับการรับรู้ทางเพศของตน ดังนั้น “จิ๋ม” จึงแก้ไขทุกปัญหา แม้ว่าการมีจิ๋มนั้นจะทำให้พวกเธอหลายคนตกเป็นพลเมืองชั้นสองภายใต้สังคมที่นิยมชายเป็นใหญ่แบบสังคมไทย เช่นเดียวกับคนที่เกิดมาเป็นผู้หญิง พวกเธอเหล่านั้นก็ต้องจำนนน้อมรับกับที่สิทธิที่เป็นรองจากผู้ชาย สิทธิของผู้ชายที่มีมากกว่าผู้หญิงจึงเป็นเรื่อง "ปกติ" ของสังคมไทย และการมี "จิ๋ม"ของกะเทยจึงทำให้กะเทยเป็น "ปกติ" และได้รับสิทธิของผู้หญิงตามมาตรฐานความปกติ (ที่ต้องตั้งคำถาม) ที่สังคมไทยได้กำหนดไว้
แม้ว่าฉันจะยินดีที่กะเทยบางส่วนจะถูกมองว่า“ปกติ” ในสังคมไทย แต่มุมมองแบบนี้กำลังทำให้สังคมไทยมีการรับรู้ที่คาดเคลื่อนกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่กะเทยไทยกำลังประสบในชีวิตประจำวัน ความคิดความเชื่อนี้กำลังทำให้พวกเราจำนวนหนึ่งลืมคิดไปว่า กะเทยอีกหลายคนยังคงไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพ เพราะพื้นที่ของการทำงานนั้นเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ชายและคนรักต่างเพศ เรากำลังลืมคิดไปว่ามีกะเทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับโอกาสเป็นนางงาม นางแบบ ช่างแต่งหน้า ผู้กำกับ พนักงานบริษัท ครูอาจารย์ และนักการเมืองท้องถิ่น และหลายครั้งประสบการณ์ความสำเร็จของกะเทยกลุ่มเล็กๆกลุ่มนี้จะถูกมองเป็นเรื่องพิเศษ และถูกทำให้กลายเป็นภาพตัวแทนของกะเทยไทยกลุ่มใหญ่ พวกเราหลายคนกำลังถูกหลอกและถูกทำให้คิดว่าเมื่อกะเทยได้รับโอกาส และประเทศไทยเป็นสวรรค์ของกะเทย คนเป็นกะเทยจึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกับหญิงชายทั่วไป จนหลงลืมไปว่าพวกเราทุกคนต่างได้รับโอกาสทางการงาน การศึกษา การแสดงตัวตน การรับรองทางกฎหมาย และสิทธิอื่นๆที่แตกต่างกันไม่ใช่เฉพาะว่าเราเป็นเพศอะไร แต่ความแตกต่างทางโอกาสนั้นถูกแบ่งแยกโดยความแตกต่างทางสัญชาติ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ชนชั้นทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ และความพิการทางร่างกาย
วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ( International Day againstHomophobia and Transphobia) หรือเรียกโดยย่อว่า IDAHOT (ไอดาฮ๊อท) ในทุกวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี จึงเป็นวันสำคัญของคนที่เป็นกะเทยอย่างฉัน เพราะเป็นวันที่ทำให้ฉันได้คิดทบทวนว่า ตราบใดที่กะเทยไทยยังต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนความเท่าเทียม และการเข้าถึงโอกาสทางสังคม การศัลยกรรมแปลงเพศยังถูกมุ่งเน้นไปที่การบำบัดรักษาแทนที่จะเป็นการสนับสนุนให้กะเทยได้ตัดสินใจใช้ชีวิตในเพศที่ตนเลือก รัฐบาลไทยยังไม่สนับสนุนและผลักดันกฎหมายรับรองสถานะทางเพศให้กับกะเทย กะเทยยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และกฎหมายคุ้มครองสิทธิยังละเลยการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในตัวตนทางเพศและเพศวิถี ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทำความรุนแรงกับกลุ่มกะเทยหรือคนข้ามเพศ
ฉันกลับคิดว่าวัฒนธรรมไทยกำลังผลิตความคิดความเชื่อที่น่ากลัว เพราะวัฒนธรรมไทยกำลังทำให้คนไทยไม่รับรู้ปัญหาที่แท้จริงที่กะเทยหลายคนในสังคมกำลังประสบ สังคมไทยกำลังมองปัญหาของกะเทยเป็นปัญหาระดับบุคคล ที่ผลักภาระการแก้ไขปัญหาไปที่ตัวบุคคล โดยมุ่งเน้นเรื่องการแปลงเพศเป็นหนทางหนึ่งของการแก้ปัญหานั้น โดยการเปลี่ยนความ “ผิดปกติ” เป็น “ปกติ” ทำให้กะเทยหลายคนต้องหาเงินมาจ่ายกับค่าศัลยกรรมแปลงเพศที่แพงลิบหลิ่วแทนที่จะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในด้านอื่นที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานะของตน เช่นการศึกษา และการแสวงหาทางเลือกในการประกอบธุรกิจ ที่น่ากลัวไปกว่าการที่สังคมมองไม่เห็นปัญหาระดับโครงสร้างทางสังคม และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่เป็นต้นตอของปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำความรุนแรงทั้งในระดับร่างกาย และในระดับสังคมกับกลุ่มกะเทย คือการที่กะเทยหลายคน แม้ว่าจะได้รับโอกาสทางสังคมอยู่บ้าง พวกเธอยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมที่พวกเธอสมควรจะได้รับในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของรัฐไทยเทียบเท่ากับพลเมืองคนอื่นๆ
แม้ว่ารัฐไทยจะไม่ได้มีกฎหมายคาดโทษหรือประหารชีวิตกะเทย และคนรักเพศเดียวกัน แต่วัฒนธรรมไทยกำลังทำหน้าที่ไม่ต่างจากการ “ฆ่า” กะเทย ในทางอ้อม ประเทศไทยกำลังเอื้อให้ปัญหาความไม่เสมอภาค และความรุนแรงกับกลุ่มกะเทยเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ ดังนั้นการพูดถึงปัญหาที่กะเทยทุกระดับชนชั้นประสบในสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา แทนที่จะสร้างภาพที่สวยงามหลอกลวงชาวต่างชาติและคนในประเทศนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับกะเทย และคนรักเพศเดียวกันอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น