“เกิดเป็นกะเทยเสียชาติเกิด”
“กรรมเก่า … ทำความดีในชาตินี้จะได้เกิดเป็นชายจริงหญิงแท้ในชาติหน้า”
“กะเทยควาย กะเทยหัวโปก กะเทยลูกเจี๊ยบ …”
“กะเทยห้ามบวช ห้ามเป็นทหาร ห้ามเป็นหมอ ห้ามเป็นครูอาจารย์ ห้ามแต่งหญิงในที่ทำงาน!!!”
“กะเทยต้องแต่งหน้า ทำผมเก่ง เต้นเก่ง และ “โม๊ก” เก่ง … ต้องตลก และมีอารมณ์ขัน”
ฉันเชื่อว่ากะเทยหลายคนเติบโตมากับเสียงสะท้อนเหล่านี้จากสังคม คนรอบข้าง และจากเพื่อนกะเทยด้วยกัน หลายครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งไม่ได้มีอิสระในการเลือกตามความเข้าใจของพวกเรา เมื่อ “ความเป็นเรา” ถูกทำให้เป็นอื่น หรือ “แปลก” และ “แตกต่าง” ความเป็นเราจึงถูกจำกัดทำให้บางครั้งคนคนหนึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชีวิตแบบใด หรือมีความสนใจในเรื่องใด เพราะเขาหรือเธอไม่อยาก “แปลก” หรือให้ใครเห็นว่าพวกเขา“ต่าง” จากคนอื่นๆ เมื่อการเป็นกะเทยถูกทำให้เป็นเรื่อง “แปลก” ในสังคมไทยที่พร้อมจะตัดสินความแปลกเป็นความ“ผิด” หรือ “ผิดปกติ” เสียงสะท้อนจากสังคม คนรอบข้าง รวมถึงกะเทยคนอื่นๆ จึงจำกัดจินตนาการ และวิถีชีวิตที่หลากหลายของการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ นอกจากนี้การตัดสินว่ากะเทยคนหนึ่งต้องทำหรือไม่ทำอะไร เป็นหรือไม่เป็นอะไร เชื่อหรือไม่เชื่ออะไร จึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ในสังคมที่ความ “ปกติ” คือ “ความถูกต้อง” เพียงเท่านั้น
คิดย้อนกลับไปสมัยฉันยังเด็ก ฉันมักถูกตัดสินเสมอจากคนรอบข้าง ที่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมที่หลายคนใช้คำเรียกต่างกันไป เช่น “กระตุ้งกระติ้ง” “เบี่ยงเบน” “อ้อนแอ้น” “อ่อนแอ” ซึ่งมีความหมายในเชิงลบ หมายถึงมีท่าทางคล้ายผู้หญิง ในขณะที่ฉันเป็นเด็กผู้ชาย ลักษณะดังกล่าวจึง “ผิด” หรือ “ผิดปกติ” และความผิดก็ตามมาด้วยการลงโทษ (อย่าลืมว่าเราอยู่ในสังคมที่ความ “ปกติ” ที่ถูกกำหนดโดยคน “ส่วนใหญ่” คือ “ความถูกต้อง” เพียงเท่านั้น) สำหรับการลงโทษก็ต่างระดับกันออกไปเช่น โดนเพื่อนล้อเลียน โดนตำหนิจากผู้ใหญ่ และโดนตั้งคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ โชคดีนักที่ฉันไม่เคยโดยทำโทษให้เจ็บทางกาย หากแต่แผลทางใจจากบทลงโทษทางสังคม และคนใกล้ชิดในพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากความคาดหวังในตัวตนทางเพศของฉันมันไม่ได้ถูกทำให้ลืมได้ง่ายนัก
เมื่อกะเทยคนหนึ่งโดนกระทำราวกลับว่าการเป็นเธอเป็นเรื่องที่ “ผิด” และ “น่าอาย” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายกะเทยคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้วฉันควรเป็นอะไร” หรือ “ฉันต้องทำอย่างไร” ในเมื่อเธอไม่สามารถเป็นตัวเธอได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต สุดท้ายเมื่อเธอไม่มั่นใจที่จะเป็นตัวเธอเอง เธอจึงต้องเป็นตามที่คนอื่นคิดคาดหวัง หรือกำหนด ร้ายไปกว่านั้นเธอจะกลัวที่จะเป็นเธอในที่สุด ความกลัวที่เกิดจากอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งคนคนหนึ่งเรียนรู้ผ่านค่านิยม บรรทัดฐาน และกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคม เมื่อเสียงสะท้อนในหัวบอกเราว่า เราต้องเป็นอะไร ทำอย่างไร หรือ เชื่อเรื่องใด ทำให้กะเทยคนหนึ่งเกิดความกลัวการเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นกะเทยคนนั้นจะเรียนรู้การเป็น “กะเทย” ตามที่สังคม และคนรอบข้างบอก หรือคาดหวัง และเธอคนนั้นจะถูกจำกัด และวางเงื่อนไขชีวิตที่กีดกันเธอจากการตัดสินใจในความเป็นตัวของเธอเอง
ในภาษาอังกฤษมีคำว่า “Transphobia (ทรานซ์โฟรเบีย)” ซึ่งแปลเป็นไทย คือ อาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ความเป็นคนข้ามเพศ หรือความเป็นกะเทย ซึ่งมักเกิดกับคนที่ไม่นิยามตัวตนว่าเป็นคนข้ามเพศ แต่เราหลายคนคิดไม่ถึงว่า ความเกลียดกลัวคนข้ามเพศนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับตัวของคนข้ามเพศหรือกะเทยได้ด้วย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Internalized transphobia” หมายถึง การซึมซับความเกลียดกลัวคนข้ามเพศเข้าไว้ภายในตัวของคนข้ามเพศเอง ความเกลียดกลัวที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิด และมีทัศนคติด้านลบกับตัวเอง เมื่อกะเทยและคนข้ามเพศไม่ต้องการใช้ชีวิตตามเพศกำเนิดของตน กะเทยหลายคนจึงหาทางออกด้วยการแสวงหาความหมายของการเป็นผู้หญิง หรือความเป็นกะเทยจากค่านิยม บรรทัดฐาน และความเชื่อของสังคมโดยมีเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมเป็นกรอบในการเรียนรู้เรื่องความเป็นเพศของตน
เมื่อการเรียนรู้ความเป็นเพศมีกรอบที่เปรียบเสมือนเหมือน “กล่อง” ใครคนใดอยู่นอกกล่อง ก็จะถูกตัดสินว่า “ผิด” ซึ่งการตัดสินนี้จะเป็นความผิดที่ทับซ้อนกับความผิดที่พวกเธอเป็นกะเทย ทำให้กะเทยหลายคนตกหลุมพรางที่สังคมได้วางไว้ กะเทยคนใดจะทำอะไรต่างออกไปก็จะเป็น “ของแปลก” ในกลุ่มกะเทย และคนอื่นๆ เกิดภาพ “กะเทยเกลียดกัน” ให้เห็นทั่วไป กลไกเหล่านี้ทำงานอย่างแยบยล เพื่อควบคุมกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆให้อยู่ภายใต้ระเบียบ และกฎเกณฑ์ทางสังคม ฉะนั้นกะเทยจะต้องเชื่อว่า “กะเทยเป็นกรรมเก่า กะเทยห้ามเป็นพระ กะเทยห้ามเป็นทหาร กะเทยตัวใหญ่คือกะเทยถึก กะเทยเด็กคือกะเทยหัวโปก กะเทยอยากสวยต้องตัวเล็กแต่งหญิง ทำศัลยกรรม ทำหน้าอก แต่งหน้า และไว้ผมยาว กะเทยอยากเป็นผู้หญิงต้องแปลงเพศ กะเทยสวยต้องไปประกวดมิสทิฟฟานี่ กะเทยต้องอารมณ์ขัน กะเทยเรียบร้อยดูน่ารัก กะเทยแรด กะเทยมักโดนผู้ชายหลอก กะเทยไม่สวยต้องซอง (เลี้ยง) ผู้ชาย กะเทยต้องมีคู่นอนมาก และมีลีลาเรื่องเพศที่ผาดโผน กะเทยต้องเป็นเมีย กะเทยต้องมีบทบาทเป็นฝ่ายรับ(บนเตียง) ถ้ากะเทยไม่เป็นช่างแต่งหน้า ทำผม นางโชว์ ทำงานสายบันเทิง กะเทยก็ต้องขายตัว ฯลฯ” หากใครไม่เชื่อหรือทำต่างออกไป ก็จะถูกขับให้เป็นคน“นอก” กลุ่ม ที่ถูกมองว่า “แปลก” ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ฉันไม่ได้ยืนยันว่าทุกคนต้องเชื่อแบบนี้เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขชีวิตช่างซับซ้อน และพวกเราไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็พยายามที่จะปีนป่ายออกจาก “กล่อง” ของความเป็นเพศอยู่ตลอดเวลา เพื่อแสวงหาความเป็นอิสระ หรือเพื่อหยุดพักจากการเดินตามความคาดหวังของสังคม และคนรอบข้าง ก่อนจะกลับลงไปใน “กล่อง” อีกครั้ง สิ่งที่ยากที่สุดคือ กล่องที่ถูกสร้างโดยสังคมวัฒนธรรมเปรียบเสมือน “กรงขัง” ที่ทำให้กะเทยคนหนึ่งเรียนรู้ที่จะรัก และแสวงหาความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนใคร ทำเหมือนใคร หรือคิดเหมือนใคร ฉะนั้น ฉันจึงไม่แปลกใจเหรอว่า ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่าตัวเองไม่สวยเพราะฉันเป็นคนสูง (184 ซม.) และแม้ว่าฉันจะสูง แต่ฉันเล่นกีฬาไม่เก่ง ฉันไม่เล่นวอลเลย์บอลเหมือนเพื่อนกะเทยคนอื่นๆ ฉันคิดเสมอว่าความเป็นกะเทยทำให้ฉันเป็นรองจากชายหญิง ฉันจะรู้สึกอึดอัดทุกครั้งที่ฉันต้องอยู่บนพื้นที่ที่แออัด เช่น บนรถไฟฟ้า ลิฟต์ หรือ รถเมล์ เพราะฉันแตกต่างจากผู้หญิง และฉันสูงกว่ากะเทยคนอื่น ฯลฯ ในทางกลับกัน ถ้าฉันคิดต่างจากที่ฉันเคยคิด หรือเชื่อว่า “ฉันสวยในแบบฉัน ฉันรักฉัน ฉันมีความสามารถในสิ่งที่ฉันรัก และฉันมีคนที่รักและห่วงฉัน” ฉันคงจะมีชีวิตที่ราบรื่น และมีความสุขมากในวัยเด็ก วัยรุ่นและเติบโตมาด้วยการใช้เวลาที่ฉันมี พัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยไม่เสียเวลาจมไปกับความคิดในแง่ร้าย และการตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา คำถามที่ฉันเองก็หาคำตอบไม่ได้ว่า “ทำไมฉันเกิดเป็นกะเทย”
ดังนั้น สังคมและพวกเราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้ “กะเทย” เกลียดความเป็น “กะเทย” เพราะวาทกรรมที่สังคมสร้างขึ้น เพื่อทำให้คนในสังคมและกะเทยเชื่ออย่างนั้น ฉันคิดว่า “สังคมไทยกลัวความเป็นกะเทย” กลัวที่จะเผชิญว่าเพศไม่ได้มีแค่สองเพศเท่านั้น สังคมไทยกลัวที่จะต้องสร้างระบบจัดการที่จะทำให้สถาบันทางสังคม (ที่เชื่อว่าเพศมีสองเพศ) ยอมรับคนที่นิยามตัวตนต่างจากชายและหญิง เพราะนั้นหมายถึง งานจำนวนมหาศาลที่สถาบันทางสังคมไม่ว่าจะเป็น สถาบันครอบครัว กฎหมาย ศาสนา การศึกษา สาธารณสุข ต้องปรับระบบบริการเพื่อรองรับสมาชิกที่ถูกลืมกลุ่มนี้ อีกทั้งสังคมกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ที่จะให้กลุ่มคนที่ตนเชื่อว่า “ไร้ค่า” หรือ “อ่อนแอ” มีพื้นที่ และมีอำนาจในการตัดสินใจของตนเอง
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องเอาชนะความกลัวที่เรามีส่วนสร้างขึ้น ผลิตซ้ำ และอุปถัมภ์ สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยสามารถทำได้ในเวลาที่อคติกำลังปกคลุมพื้นที่ทางสังคมอยู่นี้ คือ ทำความเข้าใจกับความกลัวนั้น เมื่อสังคมกำหนดเงื่อนไข และผลิตชุดความเชื่อที่ทำใหัคนในสังคมกลัว ฉันเชื่อว่าสังคมก็สามารถวางเงื่อนไข หรือเรียนรู้วิธีการขจัดความกลัวได้เช่นกัน การสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องความเป็นเพศ และความเป็นกะเทย ที่สมาชิกของสังคมทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ เข้าใจข้อจำกัดในการเรียนรู้ของคนแต่ละคนและท้าทายข้อจำกัดนั้นโดยไม่ตัดสินความเชื่อของใคร สิ่งเหล่านี้ล้วนใช้เวลา และบางครั้งการเรียนรู้นี้ก็ยาวนานไปตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง นอกจากนี้สังคมไทยต้องหยิบยื่นพื้นที่ และโอกาสให้กะเทยได้เข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคม ที่รวมไปถึงการคุ้มครองพวกเธอทางกฎหมาย ด้วยการยอมรับในเพศที่พวกเธอได้เลือก สังคมไทยต้องกล้าที่จะ “คืน” อำนาจและสิทธิในการตัดสินใจในความเป็นเพศของกะเทย ที่ถูก “ลิดรอน”จากสังคมเป็นเวลายาวนาน
สำหรับเพื่อนพี่น้อง “กะเทย” ทุกคน พวกเราต้องท้าทายความคิดของพวกเราเอง พวกเราทุกคนมีส่วนในการทำให้สังคมเรียนรู้ความเป็นกะเทย เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง เป็นนักเขียน เป็นครูอาจารย์ หรือทำงานเพื่อสังคมที่จะออกมาพูดเรื่อง “กะเทย” ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนรอบข้างเรียนรู้เรื่อง “กะเทย”ได้ หากแต่พวกเราเองต้องท้าทายความคิดที่พวกเราคุ้นเคย และหยุดคิดว่า “เราด้อยกว่าชายหรือหญิง” หยุด “กลัว” จะเป็นตัวเรา หยุด “ตัดสิน” คนที่ต่างจากเรา และหยุด “สร้าง” บรรทัดฐานและค่านิยมในกลุ่มพวกเรา ที่ตีตราและแบ่งแยกเพื่อนพี่น้องกะเทยคนอื่น
สำคัญที่สุด คือ พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะ “รัก” และ “เคารพ” ในความเป็นกะเทยของเราเอง เพราะนั้นเป็นหน้าที่หลักที่ใครก็ทำให้เราไม่ได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น