ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กะเทย: ภาษา อำนาจ และ ชนชั้น

“กูเกลียดกะเทยเกลียดตุ๊ดชิบหาย แม่งไอ้สัตว์ พวกวิปริต พ่อก็ด่า พ่อเกลียดมาก แล้วพ่อก็เล่าให้แม่เลี้ยงฟังตอนนั้นนั่งกินข้าวด้วยกัน แล้วพ่อก็บอกว่า กูตอนเป็นหนุ่มๆ แม่งมีกะเทยมาแซวกูขายก๋วยเตี๋ยว แล้วก็พยายามมาแซว กูเตะแม่งคว่ำ แล้วก็เยี่ยวใส่หม้อก๋วยเตี๋ยว พ่อบอกกูนี่เกลียดตุ๊ด ไอ้เหี้ย พวกนี้เกิดมาแม่งเสียชาติเกิด…พ่อก็เลยหันมาบอกถ้ามึงเป็นกะเทยนะ กูจะเอามีดปาดคอมึงให้ตาย แม่งอย่าเกิดมาเป็นลูกกู”

เรื่องจริงจากบทสนทนาที่ฉันกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งไดัแบ่งปันประสบการณ์การเป็นกะเทยในวัยเด็กของเราทั้งคู่ เพื่อนคนนี้ของฉันยังคงจำคำพูดของพ่อเธอได้ดีเวลาคิดถึงพ่อที่จากไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ฉันคิดว่ากะเทยหลายคนคงมีประสบการณ์ในการแสวงหาตัวตนที่ไม่ต่างกันมากนัก หลายคนมองว่าคำว่า“กะเทย” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือดูถูก เพราะคนรอบข้างของพวกเธอใช้คำนี้เรียกพวกเธอ ทั้งที่พวกเธอยินยอม หรือยอมจำนน โดยสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้พวกเธอ คือการตีตรา และลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกะเทยคนหนึ่ง คิดในทางกลับกัน เราคงไม่เรียกมนุษย์ผู้ชายคนหนึ่งว่า “ผู้ชาย” นอกจากจะเรียกชื่อของเขาคนนั้น และตระหนักว่าเขาคือคนคนหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ และเขาคนนั้นมีตัวตน ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณที่แตกต่างจากคนอื่นเช่นกัน ประสบการณ์ของกะเทยหลายคนจึงแตกต่างจากประสบการณ์ของคนที่เรียกตัวเองว่าผู้ชายหรือผู้หญิงโดยกำเนิด

ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจปัจจุบันเมื่อคำว่า “กะเทย” ถูกใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากเพศกำเนิดของตนเราจึงต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า “กะเทย” ได้ถูกให้ความหมายอย่างไรผ่านยุคสมัยและบริบททางสังคมวัฒนธรรมในช่วงที่ต่างกัน จากการศึกษาของเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2548) พบว่า ในทางประวัติศาสตร์ คำว่า “กะเทย”หมายถึงเพศที่สามทุกรูปแบบ คือ ตั้งแต่ชายรักชายที่ไม่มีความแตกต่างจากชายอื่นหรือหลายคนเรียกกลุ่มคนเหล่านั้นว่า “เกย์” ในภาษาปัจจุบัน และกะเทยยังรวมถึงหญิงรักหญิงที่ดูไม่ต่างจากหญิงอื่นๆหรือภาษาสมัยนี้คือ “เลสเบี้ยน” ในคริสต์ศตวรรษ1960 พบว่ากะเทยมีความหมายที่แคบลงในยุคถัดมาโดยนำข้อแตกต่างทางด้านสรีระ การแต่งกายข้ามเพศ และเพศวิถีในการจำแนก ทำให้หลายคนหลงลืมไปว่า สมัยหนึ่งผู้หญิงที่แต่งกายเป็นผู้ชายก็เคยถูกเรียกว่ากะเทยเช่นกัน กระทั่งในคริสต์ศตวรรษ 1970 กะเทยหมายถึงคนที่เกิดมาเป็นผู้ชายแต่เปลี่ยนบทบาทวิถีการดำเนินชีวิตเป็นเพศหญิง รวมถึงการปรับเปลี่ยนสรีระร่างกายด้วย

นอกจากนี้เทอดศักดิ์ยังพบอีกว่าพนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้กล่าวว่าคนไทอะหม ก็มีคำว่า “เทย” ใช้ในความหมายเดียวกับกะเทย ในภาษาเขมรก็มีคำว่า “เขทิย” อ่านว่า กะเตย มีความหมายเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า กะเทย เทยและเขทิยเป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะของสิ่งไม่กำหนดเพศ หรือมีลักษณะกลางๆไม่เป็นเพศใดหรือเพศหนึ่ง อย่างไรก็แล้วแต่คำว่า “กะเทย”ในพนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มีความหมายว่า คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงหรือคนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน เราจะเห็นว่าคำว่า “กะเทย” ถูกตีความและให้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำให้บทความนี้เป็นบทความทางประวัติศาสตร์แต่อย่างได แต่บางครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปของความเป็นไปในสังคมในปัจจุบัน ฉันเชื่อว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมทำให้ความหมายของกะเทยที่เคยถูกใช้เปลี่ยนแปลงไป คำว่า “กะเทย” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป เพื่อใช้เรียกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และหลายครั้งคำเรียกเหล่านี้ให้ความรู้สึกเชิงลบ ตลกขบขัน และลดคุณค่าของคนคนหนึ่ง ที่มีลักษณะ และวิถีปฏิบัติทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้กะเทยคนหนึ่งพยายามขัดขืนกับตัวตนที่คนอื่นมอบให้โดยที่พวกเธอไม่ได้ยินยอม ฉันจึงไม่แปลกใจที่หลายครั้งกะเทยคนหนึ่งจะมีความรู้สึกในเชิงลบเมื่อได้ยินคนอื่นเรียกพวกเธอว่า“กะเทย” แม้ว่าพวกเธอเองในบางครั้งจะเรียกแทนตัวเอง และกลุ่มเพื่อนของพวกเธอว่า “กะเทย” เป็นสรรพนามที่หนึ่ง สอง และสาม

เมื่อคำว่า “กะเทย” ถูกให้ความหมายในเชิงลบ และถูกหยิบใช้โดยคนอื่นๆที่ไม่ได้นิยามตัวเองว่า “กะเทย” เราจึงเห็นการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องตัวตนทางเพศจากการหยิบใช้ภาษาเพื่อทำให้เสียงของเจ้าของตัวตนนั้นๆได้ยินในสังคมที่พร้อมจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆเงียบ คำใหม่ๆถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อมาใช้เรียกแทนคำว่า “กะเทย”ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “สาวประเภทสองผู้หญิงประเภทสอง ผู้หญิงไม่แท้ คนข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ ฯลฯ” คำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้นถูกให้ความหมายผ่านเจ้าของตัวตน คนรอบข้าง สังคมและสื่อมวลชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า “กะเทย" พบว่า มีการใช้คำเหล่านั้นเพื่อเรียกกลุ่มคนที่มีวิถีเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดของตนถูกใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อฉันมองดูปรากฏการณ์นี้ด้วยที่ฉันเป็นกะเทยคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางกระแสของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมที่เป็นพื้นที่ของผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ฉันจึงเกิดความรู้สึกกังวลว่า การสร้างคำใหม่ขึ้นมานั้นไม่สามารถช่วยลบความคิดในเชิงลบของคนอื่นๆที่มีต่อกะเทยได้   

เมื่อสังคมเมืองเติบโต อัตลักษณ์ของสมาชิกในสังคมก็มีความหลากหลายมากขึ้นประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่อยู่ในระดับชนชั้นทางสังคมที่แตกต่าง และกลุ่มคนแต่ละกลุ่มก็มีการใช้ภาษาที่ต่างกัน พบว่า คำว่า “กะเทย” ยังคงถูกใช้ทั่วไปทั้งจากคนที่เป็นกะเทยและคนอื่นๆ โดยเฉพาะสังคมชนบท ซึ่งคำว่า “กะเทย” ยังหมายรวมถึงกลุ่มชายรักชาย ที่มีบทบาท และการแสดงออกทางเพศแบบผู้หญิง ทั้งนี้อารมณ์ความรู้สึกที่แฝงไปกับการใช้คำว่า “กะเทย”ในสังคมชนบท ไม่จำเป็นต้องให้ความรู้สึกในเชิงลบเสมอไป แม้ว่าจะมีการใช้คำว่า “กะเทย” ในเชิงล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งอยู่บ้าง เมื่อเปรียบเทียบสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยคนชนชั้นกลางจำนวนมาก กะเทยกลับไม่พอใจหรือรู้สึกว่าคำว่า “กะเทย” มีความหมายในเชิงลบ กะเทยชนชั้นกลางจำนวนมากยินดีที่จะใช้คำอื่นๆ เช่น สาวประเภทสอง หรือผู้หญิงข้ามเพศ เพื่อเรียกแทนตัวเอง แม้ว่าพวกเธอจำนวนหนึ่งยังคงใช้คำว่า “กะเทย” ในกลุ่มเพื่อนกะเทยด้วยกัน ปรากฏการณ์นี้มีความเชื่อมโยงกับการเมืองเรื่องตัวตนทางเพศเพื่อช่วงชิงพื้นที่ของผู้หญิงที่แสนจะเบียดขับในสังคมไทยแบบชายเป็นใหญ่ กะเทยพร้อมจะประกาศตัวเสมอว่า ฉันคือผู้หญิงที่เป็นรองจากผู้หญิงโดยกำเนิด เพราะฉันเป็นสาว “ประเภทสอง”และฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงสรีระร่างกาย หรือการ “ข้ามเพศ” ที่จำเป็นต้องมีทุนทางสังคมอยู่ไม่น้อยจึงจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในการปรับเปลี่ยนร่างกายตามระบอบสังคมทุนนิยม   

ฉันเป็นคนหนึ่งที่เติบโตในสังคมชนชั้นกลาง สำหรับฉัน เมื่อย้อนกลับไปหลายปีก่อนตอนที่ฉันยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเพศอะไร รู้เพียงแค่ว่าเรามีอวัยวะเพศชาย คนอื่นเรียกเราเป็นเด็กชาย เราก็เป็นเด็กชายหากแต่ความเป็นจริงนั้นฉันรู้สึกแตกต่างจากเด็กชายคนอื่นๆ คำว่า “กะเทย” สำหรับฉันเป็นคำที่ทำร้ายจิตใจ และสร้างความรู้สึกอึดอัด แม้ว่าสุดท้ายฉันจะเรียนรู้ตัวตนทางเพศจากสิ่งที่คนอื่นพยายามหยิบยื่นให้ ฉันจึงเป็นคนหนึ่งที่เลือกที่จะไม่ใช้คำว่า “กะเทย” แทนตัวเอง หรือเรียกคนอื่นๆ เพราะเห็นว่าคำว่า “กะเทย”เป็นคำที่หยาบคาย และแฝงไปด้วยประสบการณ์เจ็บปวด เมื่อเป็นเช่นนี้ฉันจึงเลือกที่จะเรียกตนเองว่า “สาวประเภทสอง” และใช้คำเรียกดังกล่าวมานานหลายปี จนกระทั่งฉันมีอายุมากขึ้น ฉันรู้สึกอึดอัดน้อยลงกับตัวตนทางเพศของตัวเอง คำว่า “กะเทย”ไม่ได้ทำร้ายฉันอีกต่อไป

ฉันเข้าใจถ้ากะเทยคนอื่นๆจะไม่ชอบถูกเรียกว่า“กะเทย” เพราะชุดประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่ต่างกันของพวกเรา กะเทยหลายคนเลี่ยงความรู้สึกอึดอัดด้วยการใช้คำอื่นๆในการเรียกแทนตนเอง และสะดวกใจที่จะได้ยินคนรอบข้างเรียกตนเองด้วยคำที่ตัวเองได้เลือก แม้ว่าความหมายความรู้สึกที่ผูกติดกับคำนั้นยังแฝงไปด้วยอคติ สำหรับฉันฉันได้เลือกแล้วที่จะใช้คำว่า “กะเทย” เพื่อเรียกแทนตัวเองด้วยหวังว่าการหยิบใช้คำว่า “กะเทย” ของฉัน จะสามารถรื้อถอนความหมายในเชิงลบที่ผูกติดกับคำว่า“กะเทย” เพราะแทนที่จะให้คนอื่นเป็นคนกำหนดความหมาย และหยิบยื่นประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการโดนกลั่นแกล้งด้วยคำว่า “กะเทย” ฉันกลับหยิบใช้คำภาษาไทยสองพยางค์คำนี้ด้วยความรู้สึกในเชิงบวกและภาคภูมิใจ พร้อมกับสื่อสารไปให้กับคนอื่นๆ โดยมีนัยยะของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมของเพศที่สาม ที่เราต้องมีพื้นที่ของเราเอง แทนที่จะแฝงรวมไปกับเพศชายหรือเพศหญิงในสังคมที่มักจะทำให้กลุ่มคนเล็กๆกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่โดนลิดรอนสิทธิฯอยู่บ่อยครั้ง  

เมื่อ “อัตลักษณ์” เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคม สิ่งสำคัญคือ การเคารพในตัวตนที่คนคนหนึ่งได้เลือก และปฏิบัติต่อพวกเขาตามวิถีชีวิตที่เขาเลือก สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตคือ การเป็นเจ้าของภาษา พูดภาษาของเราเอง สร้างความสบายใจมากกว่าการหยิบยืมภาษาของคนอื่นมาใช้… ฉันจึงรักการเป็น “กะเทย” ของฉันโดยที่ใครก็มาเอาความรู้สึกภาคภูมิใจนี้ไปจากฉันไม่ได้      


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 เหตุผลทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ (ในประเทศไทย)

ทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ: 1. เพราะเพศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิง ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ให้การยอมรับกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงสังคมวัฒนธรรม ถึงขั้นคนต่างชาติยกย่องให้เป็น "the paradise of LGBT" หรือ ''สวรรค์ของเกย์ ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทอมดี้ หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ" ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการยอมรับเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นการยอมรับเชิงกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคมไทย 2.การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในเอกสารราชการไม่ได้เป็น "สิทธิพิเศษ" น้อยครั้งมากที่บุคคลที่นิยามตัวเองว่าชายหรือหญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตนทางเพศ" ของตนเองจากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศไม่ได้ดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ ในทางตรงกันข้าม กะเทย และคนข้ามเพศจะต้องตอบคำถามจากคนอีกจำนวนมากถึงความเป็นเพศ ตัวตนทา...

หยุด "กลัว" กะเทย

“เกิดเป็นกะเทยเสียชาติเกิด” “กรรมเก่า … ทำความดีในชาตินี้จะได้เกิดเป็นชายจริงหญิงแท้ในชาติหน้า” “กะเทยควาย กะเทยหัวโปก กะเทยลูกเจี๊ยบ …” “กะเทยห้ามบวช ห้ามเป็นทหาร ห้ามเป็นหมอ ห้ามเป็นครูอาจารย์ ห้ามแต่งหญิงในที่ทำงาน!!!” “กะเทยต้องแต่งหน้า ทำผมเก่ง เต้นเก่ง และ “โม๊ก” เก่ง … ต้องตลก และมีอารมณ์ขัน” ฉันเชื่อว่ากะเทยหลายคนเติบโตมากับเสียงสะท้อนเหล่านี้จากสังคม คนรอบข้าง และจากเพื่อนกะเทยด้วยกัน หลายครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งไม่ได้มีอิสระในการเลือกตามความเข้าใจของพวกเรา เมื่อ “ความเป็นเรา” ถูกทำให้เป็นอื่น หรือ “แปลก” และ “แตกต่าง” ความเป็นเราจึงถูกจำกัดทำให้บางครั้งคนคนหนึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชีวิตแบบใด หรือมีความสนใจในเรื่องใด เพราะเขาหรือเธอไม่อยาก “แปลก” หรือให้ใครเห็นว่าพวกเขา“ต่าง” จากคนอื่นๆ เมื่อการเป็นกะเทยถูกทำให้เป็นเรื่อง “แปลก” ในสังคมไทยที่พร้อมจะตัดสินความแปลกเป็นความ“ผิด” หรือ “ผิดปกติ” เสียงสะท้อนจากสังคม คนรอบข้าง รวมถึงกะเทยคนอื่นๆ จึงจำกัดจินตนาการ และวิถีชีวิตที่หลากหลายของการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ นอกจากนี้การตัดสินว่ากะเทยคนหนึ่งต้องทำหรือไม่ทำอ...

ถ้าวันหนึ่ง...

ถ้าวันหนึ่ง... ประชากรส่วนใหญ่บนโลกเป็นเกย์กะ เทยทอมดี้ ... คนรักต่างเพศจะเป็นคนกลุ่มน้อย ผู้ปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ หญิง ผู้ชายสามารถท้องแทนภรรยาด้วยนว ัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ห้องน้ำไม่แยกหญิงชาย แต่เป็นห้องน้ำ Unisex ที่ใครเพศใดจะเข้าก็ได้  คนสามารถเลือกเพศได้ในเอกสารทาง ราชการ ... เลือกที่จะเป็นนางสาวหรือนางก็ไ ด้เมื่อแต่งงาน ใครจะแต่งงานกับใครก็ได้ เรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสอ งคน ศาสนาจะไม่ใช่เหตุผลของการทำสงค ราม ระบบการศึกษาจะมีบทเรียนเรื่องเ พศสำหรับเยาวชน ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องความเป็น เพศที่หลากหลาย ครูอาจารย์จะไม่ใช่ศูนย์กลางของ การเรียนการสอน แต่การศึกษาเป็นการสร้างการมีส่ วนร่วมของผู้เรียนและผู้สอน โดยผู้เรียนมีส่วนช่วยคิดแผนการ เรียน การนับถือศาสนาเป็นทางเลือก ศาสนาจะไม่ใช่เครื่องมือตัดสินค วามผิดถูก แต่เป็นสถาบันที่ช่วยพัฒนาความเ ป็นมนุษย์ และจิตวิญญาณของมนุษย์เพื่อนำไป สู่ความผาสุกของสังคม ประชาชนสามารถมีความคิดเห็นแตกต ่างทางการเมือง รัฐจะมีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต ่างได้แสดงออก (การเมืองแบบสองขั้วต่างเป็นการ เมืองที่ไม่สร้างสังคมประชาธิปไ ตย) ระบบสาธา...