ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

นักการเมืองเกย์ แกนนำหญิงในสงครามสีเสื้อ และ อำมาตยาธิปไตย

ฉันไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้เรื่องการเมืองการปกครอง อีกทั้งยังไม่ค่อยได้สนใจกับข่าวการเมือง เพราะคิดแค่ว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาล การเมืองไทยก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหา การแข่งขัน และคอรัปชั่นอย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นสำหรับฉัน ข่าวสารที่เกี่ยวกับการเมืองจึงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และไม่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามฉันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ข่าวเรื่องการเมืองเป็นข่าวดังในสื่อต่างๆ จนทำให้คนขี้เกียจที่จะรับรู้เรื่องการเมืองแบบฉัน และใครหลายคนที่ไม่เคยนึกหยิบหนังสือพิมพ์เพื่อมาอ่านข่าวการเมือง ได้รับรู้เรื่องราวทางการเมืองอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมของประชาชนหลากเสื้อสี เรื่องราวของนักการเมืองจากพรรคน้อยใหญ่ และแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลาย

ฉันมักเป็นกังวลเสมอไม่ว่าใครจะใส่เสื้อสีใดออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่กลับใช้ความเป็นตัวตนทางเพศที่ไม่ใช่หญิงชายมาพูดในแง่ลบ แฝงอคติทางเพศที่ตอกย้ำคนส่วนใหญ่ให้เชื่อว่า คนเป็นเกย์และกะเทย ไม่สามารถเป็นนักการเมืองเพื่อทำงานบริหารประเทศได้ ฉันไม่ใช่คนที่จะเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยมากนัก แต่ก็พอเดาได้ว่าถ้าเราพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นเพศไหน ถ้าเขาเหล่านั้นมีคุณสมบัติความสามารถที่จะประกอบอาชีพเป็นนักการเมืองได้ ก็ย่อมมีสิทธิในการเป็นนักการเมืองเพื่อใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ และเป็นตัวแทนของประชาชนทุกระดับชนชั้นในรัฐสภา เพื่อเป้าหมายคือความผาสุกของประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าประชาชนชนคนนั้นจะเป็นเพศใด มีเชื้อชาติหรือสัญชาติอะไร นับถือศาสนาใด ประกอบอาชีพอะไร หรือแม้แต่จะใส่เสื้อสีใดก็ตาม 

เอาเข้าจริงแล้ว ฉันก็ยังไม่เห็นความเท่าเทียมที่แท้จริงในระบอบการปกครองของประเทศไทย หากแต่แนวคิดประชาธิปไตยที่เน้นเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงข้างมากนั้น กลับมีแค่เสียงของคนรักต่างเพศที่เป็นผู้ชาย ที่มักจะมีเสียงที่ดังกว่าเสียงของผู้หญิงรักต่างเพศ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่สงวนของผู้ชายรักต่างเพศ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา เพราะการทำงานทางการเมืองนั้นเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับมหาชน และอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่เหมาะกับเพศชาย หรือการเป็นผู้นำครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยทางสังคมก็เป็นหน้าที่ของผู้ชาย ความคิดความเชื่อข้างต้นนั้น ส่งผลกระทบให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พวกเราพูดถึงในการต่อสู้ทางการเมืองนั้นไม่ได้มีความเท่าเทียม หรือไม่ได้หยิบยื่นสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนอย่างเสมอภาค ฉันยังเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เราอาจจะต้องมานั่งทบทวนกันถึงความหมายของคำว่าประชาธิปไตย และความสำคัญของการนำระบอบประชาธิปไตยมาปกครองประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนที่เป็นประชาชนชาวไทยมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้อย่างเท่าเทียมเสมอภาค 

ฉันขอยกตัวอย่างเรื่องสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการพูดถึงสัดส่วนเรื่องเพศที่เท่าเทียมนั้น เอาเข้าจริงเสียงของผู้หญิง ก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจในนโยบายของประเทศ เมื่อเทียบกับเสียงของนักการเมืองฝ่ายชาย หลายครั้งเราจะพบว่านักการเมืองหญิงพยายามจะช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่ยากภายใต้ระบบสังคมวัฒนธรรมไทยที่โอกาสของผู้หญิงจะได้ก้าวไปยืนอยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารประเทศ แม้กระทั่งเสียงของนักการเมืองที่เป็นคนรักต่างเพศหญิงชาย ก็ไม่ได้เป็นเสียงที่เป็นตัวแทนของประชาชนคนรักเพศเดียวกันทุกคนได้ ฉันไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ที่จะมีนักการเมืองคนใดที่พอจะเข้าใจประชาชนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน จะเข้าใจความต้องการของพวกเขาเหล่านั้น หรือจะทราบหรือไม่ว่ากฎหมายของประเทศไทยและผู้ใช้กฎหมายหลายคนยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนรักเพศเดียวกัน นอกจากนี้ฉันก็ไม่รู้ว่าจะมีวันใดที่เราคนรักเพศเดียวกันจะมีตัวแทนของพวกเขาในรัฐสภา ฉันคิดว่าคงไม่ใช่ในสองสามปีข้างหน้านี้แน่ หากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยยังใช้ความเป็นเกย์ ความเป็นกะเทย มาลดความน่าเชื่อถือของการประกอบอาชีพนักการเมืองของคนๆหนึ่ง 

ความไม่เท่าเทียมทางเพศของการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้มีให้เห็นในรัฐสภาเท่านั้น หากเราลองพิจารณาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่ผ่านมา เราจะพบว่าแกนนำของการชุมนุมแต่ละครั้ง มีสัดส่วนของเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะแกนนำหลักที่มีเพียงผู้ชายเท่านั้น ยิ่งตอกย้ำระบบสังคมไทยที่ สถาปนาความเป็นชายแบบรักต่างเพศเหนือกว่าตัวตนทางเพศแบบอื่นๆ เพราะสุดท้ายคนไทยยังเชื่อว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า” 

ฉันไม่ได้นั่งอนุมานปรากฏการณ์นี้แต่อย่างใด แต่ฉันพบว่าการชุมนุมแต่ละครั้ง กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการแบ่งหน้าที่ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเพศชาย และผู้ชุมนุมที่เป็นเพศหญิงอย่างชัดเจน นอกจากนี้แกนนำการชุมนุมเพศชายก็มักจะเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ของการชุมนุม ซึ่งสำหรับฉันแล้วมันช่างเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นหลักการเรื่องความเท่าเทียมเสมอภาค หรือถ้าจะให้ตีความอีกแบบหนึ่ง ก็จะสามารถพูดได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบไทยเป็นเสียงของผู้ชาย และพื้นที่ทางการเมืองคือพื้นที่อภิสิทธิ์ของคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย และมีความใคร่เสน่หาแก่เพศตรงข้ามเท่านั้น 

ซึ่งถ้าผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านที่เห็นด้วยกับฉันอาจกำลังสงสัยว่า อะไรคือทางออกของประเทศไทยเพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ฉันคงไม่สามารถตอบผู้อ่านได้ว่าเราจะทำอย่างไร เพราะฉันได้ออกตัวไว้ตอนต้นแล้วว่า ฉันไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้เรื่องการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ตามฉันในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการล้มล้างระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” ของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่ง ว่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศ 

จากความเข้าใจของฉันต่อระบอบอำมาตยาธิปไตย คือ ระบบการปกครองโดยมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ กำหนดนโยบาย และชี้ความเป็นไปของประเทศ ทั้งที่ออกหน้าหรืออยู่หลังม่านแบบลับๆ โดยในที่นี้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องเพื่อล้มล้างกลุ่มอำนาจเหล่านั้น ได้เรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะประชาชนระดับล่างที่โดยมากจะประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร หรือชนชั้นกรรมาชีพ เรียกได้ว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองนี้เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งในเรื่องความต่างของชนชั้นทางสังคม และการมีส่วนร่วมของคนทุกคนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ตามฉันยังคงมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกับใครหลายคนว่าเราจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมได้อย่างไร หากกลุ่มผู้ชุมนุมยังเอาเรื่องตัวตนทางเพศมาลดความน่าเชื่อถือของนักการเมืองบางคน และผู้หญิงยังคงเป็นช้างเท้าหลังที่ทำอย่างไรก็ต้องเดินตามเท้าหน้าอยู่วันยังค่ำ อีกทั้งควานช้างยังเป็นผู้ชายที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงเพื่อพิสูจน์ความเป็นชายแท้ของตน ตามความเชื่อของการเป็นชายชาตรี หรือใครจะรับรองได้ว่านักการเมืองคนใดเหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารประเทศ โดยไม่ได้ลุ่มหลงไปกับอำนาจที่ตนได้รับ และแกล้งทำเป็นลืมว่าประชาชนเป็นคนเลือกตนเข้าไปทำงาน ซึ่งเอาเข้าจริงอาจจะเป็นการซื้อเสียงเพื่อให้ตนเองได้ขึ้นไปสู่อำนาจที่จะกำหนดนโยบายของประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง 

ถ้าจุดมุ่งหมายของการเรียกร้องประชาธิปไตย คือการทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียม ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค การปกครองทุกระดับที่ลดอำนาจแบบแนวดิ่ง หรืออำนาจจากบนลงล่าง ให้เป็นการใช้อำนาจแบบแนวราบ เช่น การที่นักการเมืองมีภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทนประชาชน ไม่ใช่ถูกยกย่องเป็นนายเหนือหัวของใคร การชุมนุมอย่างสันติวิถีโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการปกครองที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เน้นการเกื้อกูลกันของสมาชิกในครอบครัว ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้อำนาจที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 

พวกเราประชาชนชาวไทยคงต้องมานั่งทบทวนท่าทีของการเรียกร้องประชาธิปไตยกันใหม่ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และวิถีทางการเมือง หรือชนชั้นอาชีพในสังคมคงไม่ใช่ปัญหาหลัก หากความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมหาชน การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ปราศจากการคอรัปชั่น และมีระบบตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองที่โปร่งใส เหล่านี้คงจะเป็นทางออกได้บ้างสำหรับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาลล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น 

หากวันนี้คุณผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีเชื้อชาติหรือสัญชาติอะไร นับถือศาสนาใด ประกอบอาชีพอะไร หรือแม้แต่จะใส่เสื้อสีใดก็ตาม กลับบ้านยังคิดว่าเมียคือสมบัติ ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ด่าทอ ดูถูก หรือแม้กระทั่งคิดกับญาติมิตรสหายที่เป็นเกย์เป็นกะเทยว่าพวกเขาเหล่านั้นเสียชาติเกิด รักพวกพ้องจนลืมสำนึกในจริยธรรม และยังมีความคิดที่ว่าใครมีความเห็นต่างจากตนคือศัตรู ฉันอยากจะบอกกับพวกคุณว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้อำนาจแบบบนลงล่าง สนับสนุน ส่งเสริม และผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางสังคม และที่ร้ายไปกว่านั้นคือการทำลายประชาธิปไตยที่ประชาชนชาวไทยแสวงหา เรียกร้อง และต่อสู้ 

มาถึงตรงนี้ ฉันได้คำตอบแล้วว่า ถ้าพวกเราคนใดคิดจะเปลี่ยนประเทศไทยให้มีความเท่าเทียมเสมอภาค ลดช่องว่างเรื่องชนชั้นทางสังคม พวกเราก็ควรที่จะเริ่มเปลี่ยนจากตัวของพวกเราเองก่อน เพราะถ้าเรายังเปลี่ยนตัวเราเองไม่ได้ เราคงจะไปเรียกร้องขอให้เปลี่ยนประเทศไทยก็คงไม่ได้ ซึ่งถ้าตัวเราสามารถทำได้แล้ว เราจะได้ไม่อายที่จะไปต่อสู้เรียกร้อง หรือบอกใครต่อใครเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง 




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 เหตุผลทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ (ในประเทศไทย)

ทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ: 1. เพราะเพศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิง ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ให้การยอมรับกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงสังคมวัฒนธรรม ถึงขั้นคนต่างชาติยกย่องให้เป็น "the paradise of LGBT" หรือ ''สวรรค์ของเกย์ ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทอมดี้ หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ" ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการยอมรับเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นการยอมรับเชิงกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคมไทย 2.การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในเอกสารราชการไม่ได้เป็น "สิทธิพิเศษ" น้อยครั้งมากที่บุคคลที่นิยามตัวเองว่าชายหรือหญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตนทางเพศ" ของตนเองจากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศไม่ได้ดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ ในทางตรงกันข้าม กะเทย และคนข้ามเพศจะต้องตอบคำถามจากคนอีกจำนวนมากถึงความเป็นเพศ ตัวตนทา...

หยุด "กลัว" กะเทย

“เกิดเป็นกะเทยเสียชาติเกิด” “กรรมเก่า … ทำความดีในชาตินี้จะได้เกิดเป็นชายจริงหญิงแท้ในชาติหน้า” “กะเทยควาย กะเทยหัวโปก กะเทยลูกเจี๊ยบ …” “กะเทยห้ามบวช ห้ามเป็นทหาร ห้ามเป็นหมอ ห้ามเป็นครูอาจารย์ ห้ามแต่งหญิงในที่ทำงาน!!!” “กะเทยต้องแต่งหน้า ทำผมเก่ง เต้นเก่ง และ “โม๊ก” เก่ง … ต้องตลก และมีอารมณ์ขัน” ฉันเชื่อว่ากะเทยหลายคนเติบโตมากับเสียงสะท้อนเหล่านี้จากสังคม คนรอบข้าง และจากเพื่อนกะเทยด้วยกัน หลายครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งไม่ได้มีอิสระในการเลือกตามความเข้าใจของพวกเรา เมื่อ “ความเป็นเรา” ถูกทำให้เป็นอื่น หรือ “แปลก” และ “แตกต่าง” ความเป็นเราจึงถูกจำกัดทำให้บางครั้งคนคนหนึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชีวิตแบบใด หรือมีความสนใจในเรื่องใด เพราะเขาหรือเธอไม่อยาก “แปลก” หรือให้ใครเห็นว่าพวกเขา“ต่าง” จากคนอื่นๆ เมื่อการเป็นกะเทยถูกทำให้เป็นเรื่อง “แปลก” ในสังคมไทยที่พร้อมจะตัดสินความแปลกเป็นความ“ผิด” หรือ “ผิดปกติ” เสียงสะท้อนจากสังคม คนรอบข้าง รวมถึงกะเทยคนอื่นๆ จึงจำกัดจินตนาการ และวิถีชีวิตที่หลากหลายของการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ นอกจากนี้การตัดสินว่ากะเทยคนหนึ่งต้องทำหรือไม่ทำอ...

ถ้าวันหนึ่ง...

ถ้าวันหนึ่ง... ประชากรส่วนใหญ่บนโลกเป็นเกย์กะ เทยทอมดี้ ... คนรักต่างเพศจะเป็นคนกลุ่มน้อย ผู้ปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ หญิง ผู้ชายสามารถท้องแทนภรรยาด้วยนว ัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ห้องน้ำไม่แยกหญิงชาย แต่เป็นห้องน้ำ Unisex ที่ใครเพศใดจะเข้าก็ได้  คนสามารถเลือกเพศได้ในเอกสารทาง ราชการ ... เลือกที่จะเป็นนางสาวหรือนางก็ไ ด้เมื่อแต่งงาน ใครจะแต่งงานกับใครก็ได้ เรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสอ งคน ศาสนาจะไม่ใช่เหตุผลของการทำสงค ราม ระบบการศึกษาจะมีบทเรียนเรื่องเ พศสำหรับเยาวชน ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องความเป็น เพศที่หลากหลาย ครูอาจารย์จะไม่ใช่ศูนย์กลางของ การเรียนการสอน แต่การศึกษาเป็นการสร้างการมีส่ วนร่วมของผู้เรียนและผู้สอน โดยผู้เรียนมีส่วนช่วยคิดแผนการ เรียน การนับถือศาสนาเป็นทางเลือก ศาสนาจะไม่ใช่เครื่องมือตัดสินค วามผิดถูก แต่เป็นสถาบันที่ช่วยพัฒนาความเ ป็นมนุษย์ และจิตวิญญาณของมนุษย์เพื่อนำไป สู่ความผาสุกของสังคม ประชาชนสามารถมีความคิดเห็นแตกต ่างทางการเมือง รัฐจะมีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต ่างได้แสดงออก (การเมืองแบบสองขั้วต่างเป็นการ เมืองที่ไม่สร้างสังคมประชาธิปไ ตย) ระบบสาธา...