ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

หมวกของฉัน ของเธอ ของเรา และไพรด์

            เมื่อฉันกลับถึงบ้านจากการเดินทางไปอยู่ต่างประเทศมามากกว่า 10 ปี ฉันกลับมาสวมหมวกของความเป็นลูกสาว ที่มีตัวตนทางเพศเป็นกะเทยอีกครั้ง หมวกใบนี้มันถูกทับซ้อนไว้กับหมวกใบอื่นมานานพอกับชีวิตวัยผู้ใหญ่ที่ฉันได้ออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง และตัดสินใจกลับมาอยู่กับแม่อีกครั้งเมื่อฉันอายุ 40 ปี  และแม่ของฉันอายุ 76 ปี ... มองย้อนกลับไป กะเทยคนนี้ออกจากบ้านภายหลังเรียนจบมัธยมปลาย ได้สวมหมวกทางสังคมจากอัตลักษณ์ที่หลากหลายทับซ้อนไปมา โดยที่หมวกหลายใบนั้นมีคนหยิบยื่นให้ฉัน และมีอีกมากที่ฉันหยิบมาสวมเอง   

            ชีวิตนักกิจกรรม (Activist) ที่ทำงานด้านสิทธิของกะเทยและคนข้ามเพศ ก็คือหมวกอีกใบที่ฉันสวมใส่ทุกครั้งในโลกของมนุษย์วัยทำงาน และหมวกใบนี้เองที่ทำให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนสุดพิเศษสำหรับฉัน เพราะเดือนมิถุนายนคือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ “ไพรด์” สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ... แม้ว่าไพรด์ในปีนี้จะดูเงียบเหงากว่าทุกปีเพราะพิษการระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก แต่การได้เห็นนิวยอร์คไพรด์พาเหรดที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวานนี้ คือความหวัง ที่ว่า โลกกำลังทำงานเพื่อเยียวยาสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แม้ว่าฉันยังไม่เห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์ในประเทศบ้านเกิดของตัวเองเลยก็ตาม  

            ไพรด์สำหรับฉัน คือ การตอกย้ำความสำคัญของหมวกที่ฉันใส่ในฐานะนักกิจกรรมที่ทำงานเรื่องสิทธิ และการใช้เวลาเพื่อสำรวจตัวเอง โดยเฉพาะการกลับมาถามตัวเองว่าในปีที่ผ่านมาฉันภูมิใจกับเรื่องอะไรบ้าง ฟังเรื่องราวความสุขและทุกข์ของคนรอบข้าง และเยียวยาตัวเองจากความทุกข์ของฉันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ... ไพรด์ของฉันมันมากกว่าความภูมิใจในตัวเอง เพราะมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนอีกหลายคนที่หมวกที่ฉันใส่นำพาพวกเขามาเจอกับฉัน หรือนี้อาจจะเป็นเพราะหมวกใบใดใบหนึ่งที่พวกเขาใส่ทำให้พวกเรามาเจอกัน   

            หมวก” ในความหมายที่ฉันให้กับมัน หรือคำว่า “หัวโขน” ในบริบทแบบไทย คือ อัตลักษณ์ทับซ้อนของคนแต่ล่ะคน เช่น ฉันไม่ได้เป็นกะเทยเพียงอย่างเดียว แต่ฉันยังเป็นลูก เป็นคนชนชั้นกลาง ที่มีรายได้ เป็นคนไทยในภาคเหนือ เป็นผู้ชาย (ตามกฎหมายไทยที่มีความดักดาน) เป็นกะเทยที่รักกับผู้ชาย และยังมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายทับซ้อนไปมา และเมื่อฉันต้องอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่มีความหลากหลาย มันทำให้ฉันต้องเลือกหมวกที่ต่างกันเพื่อสวมใส่ หรือโดนบังคับให้ใส่หมวกบางใบที่ไม่ได้เลือก             

            การพูดถึง “การทับซ้อนทางอัตลักษณ์” (Intersectionality) เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานของฉัน เพราะการเข้าใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ทำให้นักกิจกรรมทางสังคมเข้าใจว่าอัตลักษณ์บางอย่างของคนคนหนึ่ง นำมาซึ่งการเข้าถึงแหล่งอำนาจทางสังคม หรือในทางกลับกัน คือ การจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมของคนคนนั้น  เพราะเราทุกคนอยู่ในสังคมที่มีความเป็นพลวัต และมีระบบที่มีความซับซ้อนของการเข้าถึงสิทธิพิเศษ และการถูกกดขี่ และบ่อยครั้งระบบนี้ถูกขับเคลื่อนโดยคนเพียงบางกลุ่มที่เป็นเจ้าของอำนาจ หรือทรัพยากรทางสังคม และไม่เคยถูกตั้งคำถามจากคนที่ถูกกดขี่ หรือมีอำนาจน้อยกว่า เพราะระบบชนชั้นนี้เป็นระบบที่ไม่ได้ถูกทำให้เห็นด้วยตาเปล่า 

            ฉะนั้น อัตลักษณ์ของความเป็น “กะเทย” ของฉันมันนำมาซึ่งการถูกผลักให้ฉันเป็นคนชายขอบ หรือการถูกกดขี่บางประการ เช่น การไม่ได้ถูกรองรับทางกฎหมายในเพศที่ฉันเลือก การไม่สามารถแต่งงานได้กับคนที่ฉันรัก และการเติบโตในสังคมที่ไม่ได้มีข้อมูลใดเลยที่ฉันรู้สึกว่าปลอดภัย และเข้ากับเพศของตัวเอง โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามฉันยังมีหมวกบางใบที่ฉันสวมทำให้ตัวเองสามารถเปิดพื้นที่บางพื้นที่ในการพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง และการทำงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนข้ามเพศคนอื่นได้แบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา   

            สังคมไทยมักจะทำให้กะเทย คนข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศเงียบ หรือไม่มีใครสนใจฟัง และตีค่าประสบการณ์ของคนหลากหลายเพศในทางลบ หรือไม่สำคัญ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่บางพื้นที่ให้พวกเราชาว LGBTIQN+ ได้แสดงความเป็นตัวเอง และจำกัดขอบเขตของพื้นที่ทางสังคมไว้เพียงบางพื้นที่ที่จะยอมรับ หรือเปิดโอกาสให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ใช้พูด และเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยการพูดถึงเรื่องสิทธิของ LGBTIQN+ ในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบที่สังคมได้กำหนดไว้ มักจะถูกมองว่า เป็นการ “เรียกร้องในสิทธิพิเศษ” ทั้งที่สิทธินั้นคือ “สิทธิ์ของความเป็นมนุษย์”  ที่เท่าเทียมกับมนุษย์คนอื่น เช่น การได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย การได้รับสิทธิ์ในการจดทะเบียนสมรสกับคู่รัก และการได้รับรับรองทางกฎหมายตามเพศสภาพของคนข้ามเพศ    

            ไพรด์” จะไม่เกิดขึ้นกับใครเลย ถ้าเรายังมองการถูกกดขี่ และความไม่เท่าเทียมว่าเป็นปัญหาของ “พวกเขา” และ “พวกเรา” เงียบ เพราะเรารู้สึกปลอดภัย และสบายใจกับหมวกใบใดใบหนึ่งที่พวกเราสวม และเราจะถอดหมวกนั้นไปสวมหมวกอีกใบก็ได้ โดยที่ไม่มีใครมาบังคับให้ใส่หมวกที่เราไม่ต้องการ เพราะเราสามารถต่อรองได้ และสามารถปฏิเสธได้ เช่นเดียวกับสิทธิความหลากหลากทางเพศ ถ้าเรายังคิดว่าเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไบเซ็กซวล และคนที่มีหลากหลายเพศอื่นๆ มีปัญหาเดียวกัน ต้องการสิทธิเรื่องเดียวกัน เป็นกลุ่มเดียวกัน ใครก็ตามที่คิดแบบนี้ กำลังสร้าง “ปัญหา” และรักษาระบบอภิสิทธิ์ทางสังคมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมไทย จนทำให้เสียงของคนที่พยายามส่งเสริมความเท่าเทียมตายจากไป และถูกลืมในที่สุด  

            ถ้าวันนี้พวกคุณสวม “หมวก” ที่ทำให้พวกคุณได้รับโอกาสในการเข้าถึงอภิสิทธิ์ทางสังคม และต้นทุนบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดที่คุณจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ให้คนที่ถูกกดขี่สามารถบอกเล่าชุดประสบการณ์บางอย่างที่พวกเราหลายคนไม่เคยได้ฟัง และให้คนเหล่านั้นบอกกับเราว่าอะไรที่เขาต้องการ พร้อมกับเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความหลากหลาย และในความหลากหลายของมนุษย์นั้นยังมีคนจำนวนมากที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน ที่ทำให้พวกเขาถูกกดขี่ เช่น คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนที่มีภาวะพิการทางร่างกาย แรงงานต่างชาติ ชาติพันธุ์ พนักงานบริการทางเพศ เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ คนในชนชั้นแรงงาน คนชนบท และกลุ่มคนทางสังคมกลุ่มอื่นที่เขาเหล่านั้นมีชุดประสบการณ์การการถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติที่ต่างกัน       

            ในกระแสของงานไพรด์ก่อนที่จะหมดเดือนมิถุนายน สิ่งที่ฉันอยากเห็นที่สุดคือภาพของความสุขที่เกิดจากการที่เราทุกคนเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในภาพฝันของฉันความเข้าใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่างของมนุษย์ คือรากฐานสำคัญในการทำงานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม และคือแนวทางในการทำงานเพื่อที่จะแสวงหาทางรอดจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย   

        
Hashtags: #Intersectionality #IntersectionalityMatters #Pride #LGBTIQN #SharewithPride #HappyPride #SharePrivilege #Powersharing #StopOppression #PowerWithin #ความหลากหลายทางเพศ #ไพรด์ #อัตลักษณ์ทับซ้อน #อัตลักษณ์ทับซ้อนสำคัญ #ช่วยแชร์ #ข้ามเพศมีสุข  



    ภาพของฉันในสมัยที่เป็นอาสาสมัครขบวนพาเหรด Capital Pride
ที่กรุงวอซิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 เหตุผลทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ (ในประเทศไทย)

ทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ: 1. เพราะเพศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิง ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ให้การยอมรับกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงสังคมวัฒนธรรม ถึงขั้นคนต่างชาติยกย่องให้เป็น "the paradise of LGBT" หรือ ''สวรรค์ของเกย์ ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทอมดี้ หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ" ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการยอมรับเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นการยอมรับเชิงกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคมไทย 2.การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในเอกสารราชการไม่ได้เป็น "สิทธิพิเศษ" น้อยครั้งมากที่บุคคลที่นิยามตัวเองว่าชายหรือหญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตนทางเพศ" ของตนเองจากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศไม่ได้ดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ ในทางตรงกันข้าม กะเทย และคนข้ามเพศจะต้องตอบคำถามจากคนอีกจำนวนมากถึงความเป็นเพศ ตัวตนทา...

Love Letter to My Mom and Dad

Dear Mom and Dad, Over these past few years,since I have left home to live abroad, I feel that I have grown significantly. I am not able to call where I am living “home” for where I am now is not  our home. Where I am now is not even our country, and I rarely feel safe when I’m far from my only real home, Thailand. In spite of this, I have still enjoyed every moment abroad and have never felt very lonely because I know that I will always have my loved ones, Je Yu, and Jeed in my thoughts. In being far from home, I have learned about how to love myself and how to stand on my own. While I have everything I could ever wish for at home, living abroad I have to wait tables for a living. Working for a living abroad has made me realize that the love from the both of you cannot be bought with any amount of money. Your love has no cost and it will always remain with me throughout the rest of my life. I would like to honor the strongest power that you have given to me. You have ...

Why?

Why?  A: What make you a transgender woman?  B: Well, I don't know.  A: If being trans is difficult, why don't you try to change?  B: I can't change. This is me!  A: Are you happy of being a trans woman.  B: Well, all of us suffer one way or another, but we can be happy. It is life, you know?  B: What make you a man? A: I was born a boy so I am a man. B: Do you really believe that? A: Yes, I do. Everyone else also think that I am a man and they want to see me a masculine man. B: Ok, you are a man or at least you believe you are a man.  A: Why did you ask me this question? It is weird! B: It isn't. For me, the strange thing is that your world has 2 gender, but gender is more diverse in my world. Sadly, you are whoever other people tell you to be. I am who I am because I know who I wanna be. I am so happy!