ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กะเทยเลส : "ชาย" "หญิง" หรือ "ใคร"

สังคมไทยเป็นสังคมรักต่างเพศนิยมแบบเห็นได้ชัดจากกรณีข่าวดังของกะเทยเลส ซึ่งเปิดตัวผ่านสื่อว่า "ฉันคือกะเทยที่ชอบผู้หญิง" ถ้าได้ติดตามอ่านข่าว และโพสตามหน้าเฟชบุ๊คในเพจต่างๆ จะทราบว่าโพสเรื่องกะเทยเลสจะเต็มไปด้วยความเห็นที่หลากหลายในแบบเห็นด้วย และเห็นต่าง สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ความเห็นแบบเห็นต่างที่แฝงไปด้วยความรุนแรง และการตัดสินที่แฝงไปด้วยอคติ แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยและวัฒนธรรมไทยทำให้คนพร้อมที่จะตัดสินคนคนหนึ่งที่มีความต่างในเรื่องเพศวิถี ที่ต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมรักต่างเพศนิยม เพราะกะเทยชอบผู้หญิงถูกมองว่าผิด แปลก และต้องได้รับการลงโทษที่ไม่ใช้การลงโทษทางกายให้เจ็บปวด แต่เป็นการลงโทษที่แนบเนียนกว่า นั่นคือ การลงโทษด้วยการตัดสิน และเห็นว่าความต่างคือความแปลก และไม่เหมาะสม

เมื่อกะเทยเลสจะชอบผู้หญิง และกลายเป็นพฤติกรรมที่คนในสังคมจับจ้อง และพยายามจัดการควบคุม เพราะหลายคนเห็นว่ากะเทยอยากเป็นผู้หญิง กะเทยจะเป็นปกติต้องชอบผู้ชายเท่านั้น กะเทยจะชอบผู้หญิงจึงเป็นเรื่องไม่ปกติ หลายคนคงลืมคิดไปว่าเพศวิถีเป็นสิทธิฯ ใครจะรักใครจึงเป็นสิทธิ และความสุขของคนคนนั้น ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนในสังคมไทยถึงต้องมานั่งถกเถียงกันอย่างไม่มีบทสรุป ในเรื่องความเหมาะสมของการมีกฎหมายรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน นั้นเป็นเพราะว่าคนในสังคมไทยยังคงคิดว่าความรักของคู่รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะความปกติเดียวทางเพศวิถีในสังคมไทย คือ "รักต่างเพศ"

หากมองลึกลงไปถึงความพยายามจัดการในเรื่องเพศ กะเทยเลสจึงเป็นเพียงหนึ่งในอุปสรรคของการสร้างสังคมที่เท่าเทียมทางเพศ สังคมไทยได้สร้างวัฒนธรรมที่คนในสังคมต้องสยบยอมกับบรรทัดฐานความเชื่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นความเชื่อที่มักถูกกำหนดด้วยผู้ชายรักต่างเพศ เช่น ผู้หญิงสวยต้องมีผิวขาว รูปร่างผอม เพรียว, ผู้ชายจะต้องไม่ร้องไห้, ผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว, ผู้ชายต้องเข้มแข็งอดทน เป็นต้น ที่น่ากลัวไปกว่านั้นชุดความเชื่อเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำผ่านยุคสมัย และกลายเป็นกำแพงให้พวกเรามองเรื่องเพศ และความเป็นเพศในมุมที่คับแคบ ทำให้คนมากมายในสังคมคิดว่าการตัดสินในความต่างทางเพศของเพื่อนร่วมสังคมเป็นเรื่องที่ทำได้ จนกระทั่งมองข้ามเรื่องสิทธิฯของคนคนหนึ่งที่มีสิทธิในการดำเนินชีวิตทางเพศ และตัดสินใจในความเป็นเพศของตนเอง

ในสังคมไทย ผู้ชายกลายเป็นบุคคลเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงความรัก และความใคร่ต่อผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นเพศตรงข้าม และสิทธิของผู้ชายนี้จะไม่ถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสม หรือถูกมองว่าผิดปกติ สิทธิที่คนที่เป็นผู้ชายไม่ต้องมานั่งเสียเวลาคิดว่า เวลาใดที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะแสดงความชอบของตนต่อเพศตรงข้าม ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมีอคติต่อความเป็นเพศ และเพศวิถีของตน ดังนั้นการเปิดเผยตัวตนของกะเทยเลสจึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจของสังคมไทยแบบชายเป็นใหญ่ และกะเทยเลสเองกำลังท้าทายถึงบรรทัดฐานทางเพศวิถี ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ชายไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะมีความรัก และความใคร่กับผู้หญิง

ความเห็นแฝงอคติจากคนรักต่างเพศ คนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศ ต่อการปรากฎของกะเทยเลส ที่เปรียบเสมือน "น้ำเชียวอย่าขวางเรือ" ทำให้เข้าใจได้ว่าระบบเพศของสังคมไทยยังคงแข็งทื่อ และไม่ไปไกลกว่าความคิดความเชื่อต่อระบบเพศแบบสองขั้ว คือถ้าคนคนหนึ่งจะไม่เป็นชาย ก็ต้องเป็นหญิง เกย์คู่หนึ่งจะมีคนหนึ่งเป็นภรรยา อีกคนก็จะเป็นสามี หรือต้องมีฝ่ายหนึ่งมีบทบาททางเพศเป็นฝ่ายรุกและอีกฝ่ายเป็นฝ่ายรับ คู่รักหญิงรักหญิงจึงถูกมองเป็นเพียงความสัมพันธ์แบบทอม-ดี้ กะเทยแต่งหญิงจึงต้องชอบผู้ชาย และกะเทยแต่งหญิงต้องมีบทบาททางเพศเป็นหญิงเท่านั้น ดังนั้นระบบเพศแบบสองขั้วจึงเป็นระบบตรวจสอบความเป็นเพศที่คนรักต่างเพศใช้เป็นกลไกในการควบคุมคนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศ โดยที่บางครั้งกลายเป็นหลุมพรางที่คนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศใช้ควบคุม และกดทับคนในกลุ่มเดียวกัน  

สำหรับฉัน การปรากฎของกะเทยเลสเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทย ที่คนคนหนึ่งพร้อมที่จะบอกเล่าชุดประสบการณ์ที่แตกต่างของตัวเอง ความแตกต่างที่ไม่เหมือนกับชุดประสบการณ์ของคนอื่น ความแตกต่างที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในสังคมแบบไทยที่ความปรองดองเป็นหลักการทางการเมืองในทุกระดับ กะเทยเลสจึงไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ตัวเธอ และเพื่อนในกลุ่มมีที่ยืนในสังคมเพียงเท่านั้น แต่กะเทยเลสกำลังยืนหยัด และท้าทายคนในสังคมไทยว่า อัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องการเมืองที่เป็นปัญหาระดับประเทศที่คนไทยต้องก้าวข้ามระบบทางเพศแบบสองขั้ว แบบรักต่างเพศนิยม และวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ เพื่อสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยกับการแสดงตัวตนทางเพศที่หลากหลาย และรื้อถอนกลไกตรวจสอบทางเพศที่สร้างข้อจำกัดให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าคนผู้นั้นจะนิยามเพศของตนว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ คนรักสองเพศ กะเทยเลส รวมถึงคนที่ไม่นิยามว่าตัวเองเป็นเพศใดเพศหนึ่ง    

เมื่อการปฏิวัติเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันทางสังคมหลายฝ่าย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา ฉะนั้นการโต้ตอบความเห็นต่างที่รุนแรงด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะท้ายที่สุดเราต้องการพันธมิตรมากกว่าศัตรู แต่การท้าทายความเห็นต่างก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ท้าทายก็ไม่เกิดการตั้งคำถาม เมื่อไม่ตั้งคำถามก็ไม่ร่วมกันหาคำตอบ ฉะนั้นเมื่อเราจำเป็นต้องเอาเรือหนึ่งลำขวางกระแสน้ำเชี่ยว เราจึงต้องวางกลยุทธ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามแรงน้ำไหล แน่นอนว่ากระแสน้ำเชี่ยวบางทีอาจจะทำให้เรือแตก แต่คนพายเรือต้องแน่วแน่ที่จะพยายามบังคับเรือให้ไปสู่จุดหมาย ... สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่ายังเป็นความหวัง คือ มีคนจำนวนมากกำลังช่วยพายเรือแห่งความความเท่าเทียมทางเพศนี้ และฉันก็เป็นคนหนึ่งเช่นกันที่อยู่บนเรือลำนี้

และ ถ้าเปรียบสังคมไทยเป็นเรือหนึ่งลำ เราอาจจะต้องมองดูรอบตัวเราว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หลายประเทศได้มีกฏหมายที่คุ้มครองเกย์กะเทยทอมดี้ รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน รับรองเพศของคนข้ามเพศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สังคมไทยเองคงต้องมานั่งทบทวนแล้วว่า อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยไม่ตัดสินใจที่จะพัฒนานโยบาย กฏหมาย และเปลี่ยนวัฒนธรรมที่จะสร้างให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศให้กับคนทุกเพศ ... เราต้องการคนแบบ "กะเทยเลส" อีกจำนวนมาก เพื่อทำให้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และสร้างการเคารพในการตัดสินใจทางเพศของคนคนหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่น  

และแน่นอนว่า เราคงไม่อยากรอวันที่เรือที่มีธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์หักกลางลำน้ำแห่งโลกาภิวัฒน์  ... บางทีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่รอไม่ได้

   
 
ภาพและบทความอ้างอิงจาก -- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1431603605




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Why?

Why?  A: What make you a transgender woman?  B: Well, I don't know.  A: If being trans is difficult, why don't you try to change?  B: I can't change. This is me!  A: Are you happy of being a trans woman.  B: Well, all of us suffer one way or another, but we can be happy. It is life, you know?  B: What make you a man? A: I was born a boy so I am a man. B: Do you really believe that? A: Yes, I do. Everyone else also think that I am a man and they want to see me a masculine man. B: Ok, you are a man or at least you believe you are a man.  A: Why did you ask me this question? It is weird! B: It isn't. For me, the strange thing is that your world has 2 gender, but gender is more diverse in my world. Sadly, you are whoever other people tell you to be. I am who I am because I know who I wanna be. I am so happy!

ทาส ผิวขาว และสังคมไทย

ฉันนึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องพระนเรศวร หนังจอเงินที่คนไทยหลายคนได้ดูไม่ว่าจะได้ดูเพียงภาคใดภาคหนึ่งในหลายๆภาค หรือตอนใดตอนหนึ่งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลายคนคงตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไทยที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอ อย่างไรก็แล้วแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกรายละเอียดเพียงบางมุมที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทต้องการจะนำมาสื่อสารกับผู้ชมเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตามผู้ชมก็พอจะได้เรียนรู้ประวิติศาสตร์ไทยจากภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวรไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในหนังอย่างเรื่องพระนเรศวรคือเรื่องสีผิวคนไทยที่ไม่ขาวแบบฝรั่งหรือไม่ดำแบบชาวแอฟริกัน คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณไม่ได้เป็นคนขาวแต่อย่างใด ... ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไทยหลายเรื่องก็ไม่ได้ใช้นักแสดงที่มีผิวสีขาวผุดผ่อง นั้นอาจจะเป็นเพราะนักแสดงผิวขาวจะทำให้หนังประวิติศาสตร์ไทยมีความบิดเบือนในเรื่องของรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น ซึ่งฉันขอเพียงตั้งไว้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น ตอนเป็นเด็ก ฉันเรียนวิชาสังคมศึกษาที่อาจารย์มักสอนฉันว่า ประเทศไทยมีชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ นั่นคือ ประเทศไทยม

พลังเยาวชนกะเทย

คิดย้อนกลับไปสมัยที่วันเด็กเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของชีวิต วันเด็กเป็นวันที่เด็กหลายคนจะต้องไปธนาคารออมสินเพื่อรับของขวัญเป็นกระปุกออมสินราคาถูกๆ แต่ดีใจราวกับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง วันเด็กที่เด็กบางคนจะต้องไปแสดงความสามารถต่างๆในงานวันเด็กของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลง แข่งวาดภาพ แข่งคัดลายมือ แข่งอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ตามรายการแข่งขันสาระพัดนับไม่ถ้วนที่จัดหามาเพื่อให้เด็กเก่งมาแสดงความสามารถ อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะจำได้คือ วันเด็กเป็นวันที่เราต้องจำคำขวัญที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ในวันเด็กประจำปีของแต่ละปี และคำขวัญเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะคล้ายกันทุกปี คือ เป็นเด็กต้องเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่การศึกษา หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ประหนึ่งว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะผูกผันกับเรื่องราวเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ดังนั้นความเป็นเด็กในมายาคติแบบไทย จะหลงลืมเด็กจำนวนหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อว่าเด็กไทยต้องอยู่ในพื้นที่โรงเรียนและบ้านเท่านั้น เด็กไทยจะต้องกตัญญูเชื่อฟังพ่อแม่ และ เด็กไทยทั้ง "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" จะเป็นอนาคตข