ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

5 เหตุผลทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ (ในประเทศไทย)

ทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ:

1. เพราะเพศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิง ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ให้การยอมรับกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงสังคมวัฒนธรรม ถึงขั้นคนต่างชาติยกย่องให้เป็น "the paradise of LGBT" หรือ ''สวรรค์ของเกย์ ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทอมดี้ หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ" ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการยอมรับเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นการยอมรับเชิงกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคมไทย

2.การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในเอกสารราชการไม่ได้เป็น "สิทธิพิเศษ" น้อยครั้งมากที่บุคคลที่นิยามตัวเองว่าชายหรือหญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตนทางเพศ" ของตนเองจากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศไม่ได้ดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ ในทางตรงกันข้าม กะเทย และคนข้ามเพศจะต้องตอบคำถามจากคนอีกจำนวนมากถึงความเป็นเพศ ตัวตนทางเพศ และเนื้อตัวร่างกายของตน ดังนั้น การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศจึงเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทย ... การถูกตั้งคำถามถึงเรื่องเพศควรต้องมาพร้อมกับอำนาจในการตัดสินใจว่าสะดวกใจตอบหรือไม่ตอบ การถูกบังคับให้อธิบายความเป็นเพศของตนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะหลักการพื้นฐานทางสิทธิที่ว่า "All human beings are born free and equal in dignity and rights - มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความเป็นอิสระและเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ"

3. อาการกังวลว่าคนข้ามเพศจะไปหลอกคู่ของตัวเองว่าตนเป็นชายหรือหญิงจริงแท้เป็นอาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) ซึ่งเกิดจากอคติเกี่ยวกับความเป็นเพศ และความเชื่อเรื่องเพศที่มีเพียงสองเพศคือ ชายและหญิง ที่ยึดโยงกับเพศสรีระมากกว่าการให้ความหมายเพศทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณาผ่านกฎหมายรับรองเพศสภาพของคนข้ามเพศ เพราะเอาเข้าจริงการโกหกและหลอกลวงเกิดกับคนทุกเพศ ไม่เว้นแม้แต่ชายหรือหญิง นอกจากนี้ความเป็นเพศอะไรก็ไม่ควรถูกมาใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ความรักของคู่รัก และถ้าคิดในความเป็นจริงที่ว่าจะมีกะเทยซักกี่คนในประเทศไทยที่จะมีคนรอบข้างเพียง 1 คนไม่สามารถบอกได้ว่าเธอเป็นเพศอะไร และสุดท้ายทำไมเราจึงอยากรู้ว่าใครเป็นเพศอะไร มันช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนคนนั้นดีขึ้นอย่างไรกัน สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะเคารพอำนาจการตัดสินใจของคนคนหนึ่งต่อความเป็นเพศของเขาเองโดยไม่ตั้งคำถามกลับ เพราะมันไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร สุดท้ายจงอย่าลืมว่าอาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศนี้เป็นทางเลือก เราเลือกที่จะเกลียดคนคนหนึ่งหรือไม่เกลียดคนคนหนึ่งจากอคติของเราเอง ... ส่วนการเกิดมาเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศนั้นเกิดขึ้นเอง กรณีเหล่านี้เป็นกรณีเดียวกับการที่คิดว่าชายไทยจะแปลงเพศเพื่อหนีทหาร หรือหนีความผิดทางกฎหมาย จงอย่าลืมว่า การเป็นกะเทยไม่ได้เป็นง่ายๆ ตื่นขึ้นมาเป็นกะเทยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน

4. ชวนพูดเรื่องตัวบทกฎหมายบ้างว่าทำไมการเปลี่ยนคำนำหน้านามจึงไม่ควรเลือกปฏิบัติโดยการให้สิทธิคนที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศเพียงเท่านั้น ขอแบ่งเป็นข้อย่อยๆดังนี้

4.1 กะเทยและคนข้ามเพศจำนวนหนึ่งไม่ต้องการเปลี่ยนเพศ อวัยวะเพศไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องตัดสินความเป็นเพศ และการตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อตัวร่างกายคือสิทธิของกะเทยและคนข้ามเพศ ฉะนั้นการตัดสินความเป็นเพศไม่ควรถูกทำผ่านวาทกรรมทางการแพทย์

4.2 การเข้าถึงศัลยกรรม การเปลี่ยนเพศ และการใช้ฮอร์โมน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงิน ดังนั้นกระบวนการทางการเปลี่ยนแปลงสรีระจึงจำกัดเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มีทุนทางสังคม และสามารถเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง ... จงอย่าลืมว่ากะเทยและคนข้ามเพศจำนวนมากในประเทศที่ "ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ" ยังประสบปัญหาการหางาน การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง การเลือกปฎิบัติทางสังคม และการประสบปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคมไทย ที่ทำให้กะเทยและคนข้ามเพศจำนวนมากมีรายได้น้อย หรือ มีรายได้ที่ต่ำกว่าระดับการศึกษาและความสามารถของตน ดังนั้นการที่จะใช้เงินเพื่อการเข้าถึงกระบวนการทางการแพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงสรีระจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับกะเทยและคนข้ามเพศที่ประสบปัญหาความยากจน และกะเทยชนชั้นแรงงาน

4.3 ระบบทางการแพทย์ และทุนนิยมทำให้การเข้าถึงกระบวนการทางการแพทย์สำหรับคนข้ามเพศเป็นเรื่องยาก และราคาแพง เนื่องจากการให้การบริการทางการแพทย์สำหรับคนข้ามเพศเป็นภาระของคนข้ามเพศเองที่จะรับผิดชอบต่อการหาข้อมูลและบริการ การเข้าสู่การบริการทางการแพทย์ และการรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการบริการที่ตนเลือก ภาระเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับคนข้ามเพศ ปัดความรับผิดชอบที่ไม่เป็นธรรมให้กับคนข้ามเพศ และลดทางเลือกในการตัดสินใจในเรื่องสุขภาพของคนข้ามเพศคนหนึ่ง เช่น ตัดสินใจกินยาคุมกำเนิดแทนฮอร์โมนเพศโดยไม่ทราบผลข้างเคียง เพราะราคาถูกและเข้าถึงง่าย เป็นต้น ระบบสาธารณสุขไทยผลักภาระเหล่านี้ให้กับคนข้ามเพศ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการ ซึ่งแตกต่างกันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีกฎหมายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อสุขภาพของคนข้ามเพศอย่างเท่าเทียม ที่รวมถึงการมีข้อมูลที่ครบถ้วนต่อการตัดสินใจในการรับบริการทางการแพทย์ และการมีระบบการรักษาที่มีมาตรฐาน ที่รวมการติดตามสถานะทางสุขภาพของผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรกะเทยและคนข้ามเพศจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขไทยยังปฎิเสธการให้บริการทางการแพทย์กับคนกลุ่มนี้ ... ประเทศไทยมีแพทย์ที่สามารถทำการแปลงเพศ และทำศัลยกรรมจำนวนมาก การสร้างระบบบริการทางการแพทย์สำหรับคนข้ามเพศในระบบสาธารณสุขไทยจะเป็นการลดรายได้ของแพทย์กลุ่มนี้ นี้แหละคือความน่ากลัวของระบอบทุนนิยม

4.4 การเปลี่ยนเพศของชายข้ามเพศที่ต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าการเปลี่ยนเพศของหญิงข้ามเพศ มีกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องการระบบการติดตามทางสุขภาพของชายที่ผ่านการแปลงเพศที่มีประสิทธิภาพ (มากกว่าที่เป็นอยู่) ดังนั้นการเปลี่ยนเพศของชายข้ามเพศจึงมีข้อจำกัดจำนวนมาก และความเสี่ยงที่มากกว่า

การเปลี่ยนคำนำหน้านามทางกฎหมายเฉพาะคนแปลงเพศจึงต้องคิดอย่างถี่ถ้วนเพื่อครอบคลุมประเด็นเหล่านี้ที่กล่าวไปข้างต้น และสร้างให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เป็นธรรม และไม่แบ่งแยกเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

5. กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศได้รับการพิจารณาและออกเป็นกฎหมายในหลายประเทศเช่น อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บลาซิล อาร์เจนทิน่า และอีกหลายประเทศ ซึ่งกฎหมายนี้ในหลายประเทศไม่ได้จำกัดสิทธิการเปลี่ยนคำนำหน้านามเพียงชายหรือหญิงข้ามเพศที่ผ่านการแปลงเพศเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกคนที่นิยามเพศของตนต่างจากเพศกำเนิด โดยไม่ต้องผ่านการทำศัลยกรรม หรือกระบวนทางการแพทย์ในการเปลี่ยนสรีระ ฉะนั้นแนวคิดของการรับรองเพศใหม่ให้กับคนข้ามเพศจึงเป็นแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริง และมีตัวอย่างจำนวนมาก ... คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะผ่านกฎหมายการรับรองเพศสภาพกับกะเทยและคนข้ามเพศ หรือประเทศไทยจะรอจนกว่าประเทศอื่นๆมีกฎหมายนี้ และรอให้ประชาคมโลกรู้ว่า "the paradise of LGBT" เป็นเรื่องสร้างภาพสำหรับประเทศที่ระบอบทุนนิยมกำลังจะกลืนกินความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และเผยเนื้อแท้แห่งอคติทางเพศ คอรัปชั่น และความอยุติธรรมในสังคมวัฒนธรรมที่ "หน้า" สำคัญกว่า "จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์"



-------------
ข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประเด็นคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในประเทศไทย (7/2558):

http://news.voicetv.co.th/thailand/232089.html

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437019071

http://prachatai.org/english/node/5313?utm_source=dlvr.it&utm_medium=facebook

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Why?

Why?  A: What make you a transgender woman?  B: Well, I don't know.  A: If being trans is difficult, why don't you try to change?  B: I can't change. This is me!  A: Are you happy of being a trans woman.  B: Well, all of us suffer one way or another, but we can be happy. It is life, you know?  B: What make you a man? A: I was born a boy so I am a man. B: Do you really believe that? A: Yes, I do. Everyone else also think that I am a man and they want to see me a masculine man. B: Ok, you are a man or at least you believe you are a man.  A: Why did you ask me this question? It is weird! B: It isn't. For me, the strange thing is that your world has 2 gender, but gender is more diverse in my world. Sadly, you are whoever other people tell you to be. I am who I am because I know who I wanna be. I am so happy!

ทาส ผิวขาว และสังคมไทย

ฉันนึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องพระนเรศวร หนังจอเงินที่คนไทยหลายคนได้ดูไม่ว่าจะได้ดูเพียงภาคใดภาคหนึ่งในหลายๆภาค หรือตอนใดตอนหนึ่งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลายคนคงตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไทยที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอ อย่างไรก็แล้วแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกรายละเอียดเพียงบางมุมที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทต้องการจะนำมาสื่อสารกับผู้ชมเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตามผู้ชมก็พอจะได้เรียนรู้ประวิติศาสตร์ไทยจากภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวรไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในหนังอย่างเรื่องพระนเรศวรคือเรื่องสีผิวคนไทยที่ไม่ขาวแบบฝรั่งหรือไม่ดำแบบชาวแอฟริกัน คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณไม่ได้เป็นคนขาวแต่อย่างใด ... ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไทยหลายเรื่องก็ไม่ได้ใช้นักแสดงที่มีผิวสีขาวผุดผ่อง นั้นอาจจะเป็นเพราะนักแสดงผิวขาวจะทำให้หนังประวิติศาสตร์ไทยมีความบิดเบือนในเรื่องของรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น ซึ่งฉันขอเพียงตั้งไว้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น ตอนเป็นเด็ก ฉันเรียนวิชาสังคมศึกษาที่อาจารย์มักสอนฉันว่า ประเทศไทยมีชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ นั่นคือ ประเทศไทยม

พลังเยาวชนกะเทย

คิดย้อนกลับไปสมัยที่วันเด็กเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของชีวิต วันเด็กเป็นวันที่เด็กหลายคนจะต้องไปธนาคารออมสินเพื่อรับของขวัญเป็นกระปุกออมสินราคาถูกๆ แต่ดีใจราวกับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง วันเด็กที่เด็กบางคนจะต้องไปแสดงความสามารถต่างๆในงานวันเด็กของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลง แข่งวาดภาพ แข่งคัดลายมือ แข่งอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ตามรายการแข่งขันสาระพัดนับไม่ถ้วนที่จัดหามาเพื่อให้เด็กเก่งมาแสดงความสามารถ อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะจำได้คือ วันเด็กเป็นวันที่เราต้องจำคำขวัญที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ในวันเด็กประจำปีของแต่ละปี และคำขวัญเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะคล้ายกันทุกปี คือ เป็นเด็กต้องเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่การศึกษา หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ประหนึ่งว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะผูกผันกับเรื่องราวเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ดังนั้นความเป็นเด็กในมายาคติแบบไทย จะหลงลืมเด็กจำนวนหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อว่าเด็กไทยต้องอยู่ในพื้นที่โรงเรียนและบ้านเท่านั้น เด็กไทยจะต้องกตัญญูเชื่อฟังพ่อแม่ และ เด็กไทยทั้ง "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" จะเป็นอนาคตข