ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Post Pride Dream: เดินหน้าหรือถอยหลัง และความฝันที่ดีกว่า

                เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ "Pride" ทำให้ใครหลายคนคิดไปถึงไพรด์ของปีหน้า พร้อมกับความหวังที่จะได้ "ไพรด์" ในฝันกลับคืนมา โดยไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนในปีนี้ ที่สถานการณ์การระบาดทำให้กิจกรรม "ไพรด์" ต้องเปลี่ยนไปจัดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการเลี่ยงความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ถึงกระนั้น "ไพรด์" ของปีนี้ก็มาพร้อมกับความตื่นเต้น และสีสันไม่น้อยเลยทีเดียว 

                เริ่มต้นด้วยปรากฏการณ์ที่ธุรกิจจำนวนมากเปลี่ยนโลโก้ทางธุรกิจให้มีสีรุ้ง สร้างภาพธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเดือนไพรด์ร่วมกับชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าจะมีเสียงของนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่กล่าวว่าธุรกิจเหล่านี้พยายามหาผลประโยชน์จาก "ไพรด์" และ "กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเท่าเทียมของ LGBTIQ+" โดยนักเคลื่อนไหว LGBTIQ+ ได้ยกประเด็น "Rainbow Capitalism" หรือ "Pinkwashing" มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในภาคธุรกิจ และหวังเพียงว่าจะสร้างกระแสสังคมที่ทำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และส่งเสรืมความเท่าเทียมทางเพศกับกลุ่ม LGBTIQ+ อย่างแท้จริง 

                แม้ว่าโลโก้ต่างๆจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นโลโก้ทางธุรกิจเดิมภายหลังเดือนมิถุนายนสิ้นสุดลง ทำให้เป็นที่น่าจับตามองว่าธุรกิจสีรุ้งที่เกิดขึ้นในเดือน "ไพรด์" มีนโยบายอย่างไรเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีส่วนในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิฯของ LGBTIQ+ มากน้อยเพียงใดในสังคมไทย เราเห็นธุรกิจจำนวนหนึ่งมีการเปลี่ยนนโยบายแผนกบุคคลที่มอบสิทธิประโยชน์ให้กับคู่ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่สวนทางกับกฏหมายที่ล้าหลัง เพราะกฏหมายไทยยังไม่รับรองสถานะของคู่ชีวิต หรืออนุญาติให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานได้ เรานับถือในการเป็นผู้เริ่มของธุรกิจเหล่านั้น และอยากเห็นการพัฒนาที่มากขึ้นในภาคธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องรอ "ไพรด์" ในปีหน้าวนกลับมาอีกครั้ง 

                 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะบนโลกของสื่อสังคมออนไลน์ เป็นที่น่ายินดีที่วัยรุ่นหลากหลายเพศมีทางเลือกมากขึ้นในการเข้าร่วมกิจกรรมในเดือน "ไพรด์" หรือมีช่องทางในการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งที่มาจากดารา และ Influencer หลากหลายสื่อ และองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้น offline และ online ที่มีจำนวนมากขึ้น เดือนไพรด์ที่ผ่านมาเราเห็นนิตยสาร "สารคดี" ซึ่งเป็นนิตยสารในกระแสหลักที่ลงคอลัมส์เกี่ยวกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ไปจนถึง "คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ" ที่จัดทำโดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคู่มือเล่มแรกในประเทศไทยที่พูดถึงการเลี้ยงดูลูกหลานหลากหลายเพศในแบบที่ควรจะเป็น

                นอกจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Live ทาง Facebook, Tik Tok, Clubhouse, รายการผ่านช่องทาง YouTube ในประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียกได้ว่าพื้นที่ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีความเบิกบานในเดือนแห่ง "ไพรด์" ... เราเห็นการเปิดพื้นที่ที่มาพร้อมกับการสะท้อนถึงสภาพปัญหาที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญในสังคมไทย เช่น การถูกเลือกปฏิบัติและความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม การไม่มีกฏหมายคุ้มครองและรองรับ ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนชายขอบในชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการแสวงหาความอยู่รอดจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19   

               เดือน "ไพรด์" ของใครหลายคน คือ การได้ไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆที่มีการตกแต่งด้วยธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองของชาวสีรุ้ง หรือ "คนที่มีความหลากหลายทางเพศ" หนึ่งในสถานที่ที่เป็น Hotspot คือ สามย่าน มิตรทาวน์ ที่ใครหลายคนผ่านไปต้องแวะถ่ายภาพสัญลักษณ์ของชุมชน LGBTIQ+ จนอาจจะเผลอคิดไปว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้สิทธิเท่าเทียมสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยไม่รู้ว่าไพรด์เกิดขึ้นมาจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิฯ และขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTIQ+ ... การเฉลิมฉลองเป็นเรื่องสนุก และสร้างความสุข แต่การเฉลิมฉลองที่เกิดขึ้นไม่ควรลืมที่มา และจิตวิญญาณของ "ไพรด์" ที่เป็นจุดเริ่มต้น และเหตุผลที่ LGBTIQ+ ออกมาเฉลิมฉลอง              

                เดือนมิถุนายนจบลงเป็นการสิ้นสุดเดือนแห่ง "ไพรด์" อย่างเป็นทางการ พร้อมกับข่าวเศร้าที่ผู้เข้าประกวดที่ได้รับตำแหน่ง Miss Tiffany คนแรกของการประกวด ซึ่งจัดในปีพ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) เสียชีวิต อดคิดไม่ได้ว่า LGBTIQ+ จำนวนมากที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากอคติทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าการเสียชีวิตของคุณเอฟ ธนาภรณ์ วงศ์ประเสิร์ฐ เกิดขึ้นจากเหตุผลส่วนบุคคล แต่ถ้าเรามองกลับกันว่า คนที่เป็น LGBTIQ+  ได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นด้วยความเคารพ ไม่เลือกปฏิบัติ มีสิทธิเท่าเทียมกับประชากรชายหญิง และมีบริการสุขภาพกาย ใจ และสังคมที่เข้าใจ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพ ... จะทำให้คนที่เป็น LGBTIQ+ มีภูมิคุ้มกันทางสังคม มีโอกาสเข้าถึงความสุขได้อย่างเท่าเทียม และจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น จากความเข้าใจของคนรอบข้างในสังคม ที่รวมถึงสถาบันทางสังคมทุกสถาบัน 

                จะมีวันนั้นหรือไม่ ที่คนในชุมชน LGBTIQ+ จะสามารถเฉลิมฉลอง "ไพรด์" ทุก ๆ 365 วัน เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความเท่าเทียมกับทุกคน โดยไม่ได้จำกัดว่าใครจะเป็น "เพศ" ใด หรือใครจะ "รัก" กับใคร 

                หรือเราต้องรอ "เดือนมิถุนายน" ของปีหน้า และปีต่อไป เพื่อหาเหตุผลที่เราจะออกมาเฉลิมฉลองพร้อมกับธงหลากสีอีกครั้ง  




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 เหตุผลทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ (ในประเทศไทย)

ทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามของหญิงและชายข้ามเพศ: 1. เพราะเพศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิง ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่ให้การยอมรับกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเชิงสังคมวัฒนธรรม ถึงขั้นคนต่างชาติยกย่องให้เป็น "the paradise of LGBT" หรือ ''สวรรค์ของเกย์ ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทอมดี้ หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ" ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการยอมรับเชิงสังคมวัฒนธรรมเป็นการยอมรับเชิงกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศในสังคมไทย 2.การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศในเอกสารราชการไม่ได้เป็น "สิทธิพิเศษ" น้อยครั้งมากที่บุคคลที่นิยามตัวเองว่าชายหรือหญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตนทางเพศ" ของตนเองจากเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ในต่างประเทศ) และบุคคลทั่วไป เพราะตัวตนทางเพศไม่ได้ดูขัดแย้งกับคำนำหน้านามในบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญทางราชการ ในทางตรงกันข้าม กะเทย และคนข้ามเพศจะต้องตอบคำถามจากคนอีกจำนวนมากถึงความเป็นเพศ ตัวตนทา...

หยุด "กลัว" กะเทย

“เกิดเป็นกะเทยเสียชาติเกิด” “กรรมเก่า … ทำความดีในชาตินี้จะได้เกิดเป็นชายจริงหญิงแท้ในชาติหน้า” “กะเทยควาย กะเทยหัวโปก กะเทยลูกเจี๊ยบ …” “กะเทยห้ามบวช ห้ามเป็นทหาร ห้ามเป็นหมอ ห้ามเป็นครูอาจารย์ ห้ามแต่งหญิงในที่ทำงาน!!!” “กะเทยต้องแต่งหน้า ทำผมเก่ง เต้นเก่ง และ “โม๊ก” เก่ง … ต้องตลก และมีอารมณ์ขัน” ฉันเชื่อว่ากะเทยหลายคนเติบโตมากับเสียงสะท้อนเหล่านี้จากสังคม คนรอบข้าง และจากเพื่อนกะเทยด้วยกัน หลายครั้งชีวิตของคนคนหนึ่งไม่ได้มีอิสระในการเลือกตามความเข้าใจของพวกเรา เมื่อ “ความเป็นเรา” ถูกทำให้เป็นอื่น หรือ “แปลก” และ “แตกต่าง” ความเป็นเราจึงถูกจำกัดทำให้บางครั้งคนคนหนึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชีวิตแบบใด หรือมีความสนใจในเรื่องใด เพราะเขาหรือเธอไม่อยาก “แปลก” หรือให้ใครเห็นว่าพวกเขา“ต่าง” จากคนอื่นๆ เมื่อการเป็นกะเทยถูกทำให้เป็นเรื่อง “แปลก” ในสังคมไทยที่พร้อมจะตัดสินความแปลกเป็นความ“ผิด” หรือ “ผิดปกติ” เสียงสะท้อนจากสังคม คนรอบข้าง รวมถึงกะเทยคนอื่นๆ จึงจำกัดจินตนาการ และวิถีชีวิตที่หลากหลายของการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ นอกจากนี้การตัดสินว่ากะเทยคนหนึ่งต้องทำหรือไม่ทำอ...

ถ้าวันหนึ่ง...

ถ้าวันหนึ่ง... ประชากรส่วนใหญ่บนโลกเป็นเกย์กะ เทยทอมดี้ ... คนรักต่างเพศจะเป็นคนกลุ่มน้อย ผู้ปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ หญิง ผู้ชายสามารถท้องแทนภรรยาด้วยนว ัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ห้องน้ำไม่แยกหญิงชาย แต่เป็นห้องน้ำ Unisex ที่ใครเพศใดจะเข้าก็ได้  คนสามารถเลือกเพศได้ในเอกสารทาง ราชการ ... เลือกที่จะเป็นนางสาวหรือนางก็ไ ด้เมื่อแต่งงาน ใครจะแต่งงานกับใครก็ได้ เรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสอ งคน ศาสนาจะไม่ใช่เหตุผลของการทำสงค ราม ระบบการศึกษาจะมีบทเรียนเรื่องเ พศสำหรับเยาวชน ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องความเป็น เพศที่หลากหลาย ครูอาจารย์จะไม่ใช่ศูนย์กลางของ การเรียนการสอน แต่การศึกษาเป็นการสร้างการมีส่ วนร่วมของผู้เรียนและผู้สอน โดยผู้เรียนมีส่วนช่วยคิดแผนการ เรียน การนับถือศาสนาเป็นทางเลือก ศาสนาจะไม่ใช่เครื่องมือตัดสินค วามผิดถูก แต่เป็นสถาบันที่ช่วยพัฒนาความเ ป็นมนุษย์ และจิตวิญญาณของมนุษย์เพื่อนำไป สู่ความผาสุกของสังคม ประชาชนสามารถมีความคิดเห็นแตกต ่างทางการเมือง รัฐจะมีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต ่างได้แสดงออก (การเมืองแบบสองขั้วต่างเป็นการ เมืองที่ไม่สร้างสังคมประชาธิปไ ตย) ระบบสาธา...