ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Beyond Visibility: Pose ในแง่มุมที่มากกว่าการสร้าง "ภาพปรากฏ" ของผู้หญิงข้ามเพศบนจอแก้ว

รู้ใช่หรือไม่ว่ามันหมายถึงอะไร การที่เราสามารถอยู่บนโลกที่มีแต่ผู้หญิงและผู้ชาย โลกของคนผิวขาว ที่ทุกคนพยายามแสวงหาความฝันของอเมริกันชน แต่พวกเราไม่เคยเข้าถึงความฝันนั้นเลย ไม่ใช่เพราะเราทำมันไม่ได้นะ เชื่อฉันเถอะ ฉันหมายความว่าทำไมเธอจะไม่พยายามทำตามฝันนั้นล่ะ? แค่เธอขยับตัวเต้นให้คนทั้งโลกได้เห็น? โลกอาจจะยอมรับคนแบบเราก็ได้?” 

Blanca พูดเพื่อให้กำลังใจกับ Damon ชายหนุ่มแอฟริกันอเมริกันอายุ 17 ปี ที่หนีออกจากบ้านที่พ่อแม่ไม่ยอมรับเขาที่เป็นเกย์ และได้เดินทางมานิวยอร์ก จนมาพบกับ Blanca ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่เปิดบ้านของเธอในฐานะผู้ปกครองของเขา บทพูดนี้เป็นบทพูดก่อนที่ Damon จะเปิดตัวในงานบอลรูม (Ballroom) งานแรกของเขา ฉากนี้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Pose สะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงสังคมอเมริกาในปลายยุค 80 ยุคที่กำลังมีการระบาดของเชื้อเอชไอวี การเลือกปฎิบัติเชิงโครงสร้างต่อคนผิวสี และการกีดกันต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ   

Pose เป็นซีรีส์ที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นซีรีส์ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง FX ที่ได้รวบรวมนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศจำนวนมากที่สุดมาแสดงในบทต่างๆ อีกทั้งยังมีบรรดานักเขียน และทีมผู้ผลิต หรือโปรดิวเซอร์ที่เป็นคนข้ามเพศอีก อาทิ Janet Mock และ Our Lady J ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศของประเทศสหรัฐอเมริกา   

นอกจาก Pose จะสร้างปรากฎการณ์ที่ทำให้คนข้ามเพศได้เป็นที่มองเห็น และยอมรับในวงการภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา Pose ยังมีข่าวดีให้แฟนคลับ และชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อ Mj Rodriguez สร้างประวัติศาตร์เป็นนักแสดงผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Woman) คนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ อวอร์ด (Emmy Awards) ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์แนวดราม่า (Drama) สำหรับบทบาท Blanca Rodriguez-Evangelista  

และพวกเราได้ยินกันอย่างชัดเจนว่า Mj Rodriguez อาจจะได้เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่มีการจัด Emmy Awards มา ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 73 และจะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายนของปีนี้  

หลังจากที่ Billy Porter ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปี 2019 ในบทของ Pray Tell ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Blanca และผู้ประกาศ (Emcee) ในงานบอลรูมที่มีประโยคฮิตติดหูอย่างเช่น “The category is …” ทุกครั้งที่มีการประกาศประเภทของชุด หรือธีมในการแต่งตัว ก่อนที่จะเริ่มการประกวด และให้กรรมการได้ทำการตัดสินคะแนนว่าทีมจากบ้านไหนจะได้ถ้วยรางวัลกลับไปมากที่สุด  

Billy Porter คือนักแสดงผิวสีที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และเขายังได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นปีที่ 3 พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง Pose ยังได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมของปีนี้อีกด้วย 

Pose ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างภาพปรากฏ และสร้างความเข้าใจให้กับคนข้ามเพศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ Pose ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีในการนำเสนอวัฒนธรรม “Voguing culture” หรือ     “วัฒนธรรมการเต้นโว้กซึ่งเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยที่เกิดโดยกลุ่มเกย์ และหญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์กช่วงปลายยุค 80 และการเต้นโว้กมักจะถูกนำเสนอในงานบอลรูม ที่ถูกจัดขึ้นแบบลับๆ หรือ “underground” ในสถานที่ที่ไม่ใช่บาร์ หรือที่เที่ยวของนักเที่ยวกระแสหลัก โดยมีคำกล่าวที่ว่าบอลรูมคือจุดกำเนิดของโว้กก่อนที่ Madonna จะทำให้วัฒนธรรมการเต้นโว้กเป็นที่โด่งดังในเพลงของเธอที่ใช้ชื่อว่า “Vogue” จากอัลบั้ม “I’m Breathless” ในปี 1990  

มีคำกล่าวที่ว่าการเต้นโว้ก คือ การต่อต้านต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสีซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างนี้จากการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่อง Pose ว่าการจัดงานบอลรูมของกลุ่มเกย์ และผู้หญิงข้ามเพศผิวสีนั้นอาจจะเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาได้ปลดเปลื้องจากความทุกข์ที่เกิดจากสังคมที่เลือกปฎิบัติ และตีตราต่อคนผิวสี และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาจากประสบการณ์ของการถูกกระทำความรุนแรง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับพลังใจจากคนในชุมชนเดียวกัน นอกจากซีรีส์เรื่อง “Pose แล้ว “Paris Is Burning” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีในปี 1990 และ “Kiki” ในปี 2016 เป็นภาพยนตร์ที่คนสนใจวัฒนธรรมการโว้กควรไปหาดูกัน  

Pray Tell ใน Pose พูดเกี่ยวกับครอบครัวที่น่าสนใจว่าบ้านเป็นมากกว่าที่พักอาศัย มันคือการสร้างครอบครัว และทุกครอบครัวต้องการแม่ ผู้ซึ่งมอบการยอมรับคน (ในครอบครัว) แบบไม่มีเงื่อนไข ใส่ใจดูแล ไม่ลังเลต่อความรักที่มอบให้ และสร้างแรงบันดาลใจซึ่งเป็นคำพูดที่รื้อถอนภาพครอบครัวแบบเดิมๆ ที่มักจะทอดทิ้งคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเบียดขับคนเหล่านี้ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม Pose ได้สร้างภาพของครอบครัวทางเลือกให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นบ้านที่สนับสนุนกันและกันทางด้านจิตใจ และสถานะเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสี อาศัยในบ้านเดียวกัน และมีหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกเรียกว่าแม่ของบ้านหลังนั้น  

แม้ว่า Pose จะไม่ได้ฉายภาพสภาพสังคม และความรุนแรงที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้ แต่ Pose เล่าเรื่องราวน่าสนใจซึ่งเป็นปรากฎการณ์สำคัญเกี่ยวกับการระบาดของโรคเอดส์ โดย Pose เปิดตัวฉากแรกในยุค 1987 ซึ่งเป็นยุคที่งานบอลรูมเป็นกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มเกย์ และหญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์ก โดยที่ซีรีส์เรื่องนี้ในซีซั่นสองเสนอภาพของสังคมอเมริกันในยุค 1990 ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมโว้กถูกนำไปสู่สังคมกระแสหลักโดยเพลงของมาดอนน่า และการระบาดที่เพิ่มมากขึ้นของโรคเอดส์ และเปิดตัวภาคสุดท้าย (ซีซั่นสาม) ในปี 1994 ซึ่งเป็นช่วงปีที่เอดส์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนอเมริกันที่อายุ 25 ถึง 44 ปี     

เกย์ และผู้หญิงข้ามเพศเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการตีตรา และภาพเหมารวมที่คนในสังคมอเมริกันในช่วงปลายยุค 80 เรื่อยมาจนถึงต้นยุค 90 เชื่อว่าเอดส์คือโรคของเกย์หรือเกย์เป็นตัวแพร่เชื้อโรคซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะใช้คำว่าเกย์หรือคนรักร่วมเพศที่รวมถึงคนข้ามเพศไปด้วย ตัวละครหลักของ Pose ทั้ง Blanca และ Pray Tell ก็เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่พยายามสื่อปรากฏการณ์นี้ผ่านตัวละครทั้งสอง เพื่อฉายภาพในด้านบวกของคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดจากการเป็นคนผิวสี และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการความรัก และมอบความรัก และการเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ และเยียวยาของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคที่ยังเต็มไปด้วยอคติ และองค์ความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับโรคเอดส์และเอชไอวี

Pose ฉายภาพตัวแทนจากชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคมในวัฒนธรรมอเมริกันสมัยนั้น ซึ่งคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสีต้องรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการจัดตั้งองค์กรชุมชนที่ทำงานด้านเอดส์กับคนรักเพศเดียวกัน และผู้หญิงข้ามเพศ โดยที่องค์กรหนึ่งที่ถูกอ้างถึงใน Pose คือ “ACT UP” ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นจริงในปี 1987 และมีการนำเสนอสถานที่ในประวัติศาสตร์ เช่น โรงพยาบาลที่รับดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน  ซึ่งมีอยู่จริง และตั้งอยู่ในย่านกรีนวิชวิวเลซ หรือ “Greenwich Village” ในเขตแมนฮัตตัน (Manhattan) นิวยอร์กอย่างเช่น “Saint Vincent’s” หรือ สถานที่ที่คนในชุมชนเรียกว่า “The Piers” ที่ตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน ริมแม่น้ำฮัดสัน (Hudson River) ที่เป็นแหล่งที่คนทำงานบริการทางเพศยืนหาลูกค้า และแหล่งหาคู่นอนของคนรักเพศเดียวกัน ผู้หญิงข้ามเพศ และคนที่สนใจพวกเขา      

กลับมามองที่ภาพยนตร์ไทยที่มีการใช้นักแสดงเป็นผู้หญิงข้ามเพศ หรือถ่ายถอดเรื่องราวของคนข้ามเพศ ที่ฉายภาพ และเรื่องราวของพวกเขาอย่างจำกัด ขาดแง่มุมของความจริงที่มนุษย์คนหนึ่งต้องเผชิญ หรือการเป็นเพียงตัวประกอบที่สร้างสีสรรในภาพยนตร์จอแก้วและจอเงิน ถ้าคิดในอีกแง่มุมหนึ่งคือ การรับรู้ของผู้ชมต่อคนข้ามเพศนั้นเลือกที่จะรับชมภาพยนตร์เพียงบางเรื่อง และไม่เปิดรับภาพ หรือเรื่องราวที่ต่างออกไปของคนข้ามเพศในวงการภาพยนตร์ไทย

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในขณะที่คนข้ามเพศในต่างประเทศได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถทำหน้าที่ของนักแสดงอย่างสุดความสามารถ และมีภาพยนตร์ซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมทั่วโลก เช่น Orange is the New Black (2013-2019) ซึ่งมีนักแสดงหญิงข้ามเพศอย่าง Laverne Cox ในบทของ Sophia Burset และ Transparent (2014-2019) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงข้ามเพศได้อย่างครบรส แม้ว่าจะนำแสดงโดยผู้ชายตรงเพศอย่าง Jeffrey Tambor ในบทของ Maura Pfefferman 

จึงทำให้เกิดคำถามกับผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย และผู้ชมที่ว่าเมื่อไหร่ผู้ผลิต และผู้ชมภาพยนตร์ไทยจะตระหนักถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้?” ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาภาพปรากฎของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในวงการภาพยนตร์ไทย ที่ไม่ย้ำอยู่กับความตลกหรือเป็นแค่ตัวประกอบแต่นำเสนอถึงแง่มุมชีวิตที่หลากหลายอย่างสร้างสรรค์

สุดท้าย Blanca ใน Pose ได้พูดว่า “Our greatest asset is our authenticity” หรือในภาษาไทยคือความเป็นตัวของตัวเองของพวกเรา (ผู้หญิงข้ามเพศ) คือสมบัติอันมีค่าที่สุดดังนั้นเมื่อใดภาพยนตร์หยิบใช้สมบัติล้ำค่านี้จากผู้หญิงข้ามเพศ คนชมก็จะได้เรียนรู้ความหลากหลาย และความเป็นมนุษย์ที่ไปไกลกว่าการปรากฎตัวของคนข้ามเพศในภาพยนตร์นั้นไปด้วย

เขียนโดย: กะเท้ย กะเทย      

อ้างอิง:
1. Variety: shorturl.asia/RTgNi 

* บทความนี้เขียนลงนิตยสารออนไลน์ Modernist เผยแพร่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 สามารถหาอ่านจาก ลิงค์ นี้


ภาพ: MJ Rodriguez จาก Internet
ภาพ: MJ Rodriguez จาก Internet

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทาส ผิวขาว และสังคมไทย

ฉันนึกถึงภาพยนตร์ไทยเรื่องพระนเรศวร หนังจอเงินที่คนไทยหลายคนได้ดูไม่ว่าจะได้ดูเพียงภาคใดภาคหนึ่งในหลายๆภาค หรือตอนใดตอนหนึ่งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลายคนคงตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไทยที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอ อย่างไรก็แล้วแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกรายละเอียดเพียงบางมุมที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทต้องการจะนำมาสื่อสารกับผู้ชมเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตามผู้ชมก็พอจะได้เรียนรู้ประวิติศาสตร์ไทยจากภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวรไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในหนังอย่างเรื่องพระนเรศวรคือเรื่องสีผิวคนไทยที่ไม่ขาวแบบฝรั่งหรือไม่ดำแบบชาวแอฟริกัน คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณไม่ได้เป็นคนขาวแต่อย่างใด ... ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไทยหลายเรื่องก็ไม่ได้ใช้นักแสดงที่มีผิวสีขาวผุดผ่อง นั้นอาจจะเป็นเพราะนักแสดงผิวขาวจะทำให้หนังประวิติศาสตร์ไทยมีความบิดเบือนในเรื่องของรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นเพราะเหตุผลอื่น ซึ่งฉันขอเพียงตั้งไว้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น ตอนเป็นเด็ก ฉันเรียนวิชาสังคมศึกษาที่อาจารย์มักสอนฉันว่า ประเทศไทยมีชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ นั่นคือ ประเทศไทยม

พลังเยาวชนกะเทย

คิดย้อนกลับไปสมัยที่วันเด็กเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของชีวิต วันเด็กเป็นวันที่เด็กหลายคนจะต้องไปธนาคารออมสินเพื่อรับของขวัญเป็นกระปุกออมสินราคาถูกๆ แต่ดีใจราวกับถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง วันเด็กที่เด็กบางคนจะต้องไปแสดงความสามารถต่างๆในงานวันเด็กของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลง แข่งวาดภาพ แข่งคัดลายมือ แข่งอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ตามรายการแข่งขันสาระพัดนับไม่ถ้วนที่จัดหามาเพื่อให้เด็กเก่งมาแสดงความสามารถ อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะจำได้คือ วันเด็กเป็นวันที่เราต้องจำคำขวัญที่ถูกแต่งขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ในวันเด็กประจำปีของแต่ละปี และคำขวัญเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะคล้ายกันทุกปี คือ เป็นเด็กต้องเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่การศึกษา หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ประหนึ่งว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะผูกผันกับเรื่องราวเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ดังนั้นความเป็นเด็กในมายาคติแบบไทย จะหลงลืมเด็กจำนวนหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อว่าเด็กไทยต้องอยู่ในพื้นที่โรงเรียนและบ้านเท่านั้น เด็กไทยจะต้องกตัญญูเชื่อฟังพ่อแม่ และ เด็กไทยทั้ง "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" จะเป็นอนาคตข

Why?

Why?  A: What make you a transgender woman?  B: Well, I don't know.  A: If being trans is difficult, why don't you try to change?  B: I can't change. This is me!  A: Are you happy of being a trans woman.  B: Well, all of us suffer one way or another, but we can be happy. It is life, you know?  B: What make you a man? A: I was born a boy so I am a man. B: Do you really believe that? A: Yes, I do. Everyone else also think that I am a man and they want to see me a masculine man. B: Ok, you are a man or at least you believe you are a man.  A: Why did you ask me this question? It is weird! B: It isn't. For me, the strange thing is that your world has 2 gender, but gender is more diverse in my world. Sadly, you are whoever other people tell you to be. I am who I am because I know who I wanna be. I am so happy!